จ่าเฉยออกใบสั่งอัตโนมัติ คว้ารางวัลวิจัยเด่น สกว.ปี 60

police

“จ่าเฉยอัจฉริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ” พัฒนาการล่าสุดของจ่าเฉยหรือหุ่นตำรวจจราจร ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง จากมูลค่าที่ได้เกิดการใช้งานจริงแล้วทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ต

“จ่าเฉยอัจฉริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ” พัฒนาการล่าสุดของจ่าเฉยหรือหุ่นตำรวจจราจร ที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ลดภาระงาน และเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการออกใบสั่งแก่ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎจราจรประเภทการเบียดเส้นทึบคอสะพานในกรุงเทพมหานคร และนำมาซึ่งการกวดขันระเบียบวินัยจราจรอันเป็นประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.มงคล เอกปัญญาพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที ร่วมกับอาจารย์วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ โดยผสมผสานระบบประมวลผลทางภาพกับแมชชีนเลิร์นนิ่ง แล้วนำไปติดตั้งและใช้งานจริงไว้ที่จ่าเฉย 19 จุดในกรุงเทพฯ และ จ.ภูเก็ต 2 จุด

ระบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยการบันทึกภาพการจราจรและการออกใบสั่งโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีการประมวลผลทางภาพในการบันทึกข้อมูลการกระทำผิด อ่านข้อมูลจากป้ายทะเบียนของยานพาหนะที่ฝ่าฝืนกฎจราจร แล้วจึงวิเคราะห์ สี ชนิด และยี่ห้อรถ เพื่อช่วยในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยความแม่นยำกว่า 80% และลดระยะเวลาในการออกใบสั่งเหลือเพียงแค่ 1 นาที จากระบบเดิมที่เจ้าหน้าที่ใช้เวลาเวลาถึง 5 นาทีต่อการกระทำผิด 1 กรณี เทคโนโลยีการประมวลผลภาพที่พัฒนาขึ้นจึงมีความเหมาะสมกับสภาพการจราจรที่คับคั่งของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังอาศัยเทคโนโลยีร่วมกับความชัดเจนของหลักฐานและข้อมูล โดยสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ บก.จร. และกรมการขนส่งทางบกในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดกฎจราจร

ปัจจุบันระบบดังกล่าวมีการติดตั้งและใช้งานจริง โดยระบบส่วนหน้าติดตั้งที่แยกสุทธิสาร-รัชดาภิเษก และระบบออกใบสั่งติดตั้งที่ บก.จร. โดยขยายผลการใช้งานระบบฯ ผ่านการประมูลโครงการติดตั้งตรวจจับรถฝ่าฝืนกฎจราจรเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม หรือระบบ Lane Change เพิ่มเป็น 15 จุดทั่วกรุงเทพฯ  ทั้งนี้ การประมูลโครงการดังกล่าวมีการแข่งขันจาก 4 บริษัท ทั้งบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับผู้กระทำผิดของประเทศเยอรมนีและแคนาดาร่วมประมูลด้วย ผลปรากฏว่าบริษัทที่ชนะการประมูล ได้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ไพน์แอปเปิ้ลวิชั่นซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตการใช้สิทธิ์ผลงานวิจัยดังกล่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าร่วมประมูล และชนะการประมูลเนื่องจากมีความแม่นยำในการประมวลผลสูงสุด คิดเป็นเงินงบประมาณในการติดตั้งระบบดังกล่าว จำนวน 14.39 ล้านบาท และมีโอกาสขยายผลการใช้งานในอนาคตได้ถึง 100-200 จุดทั่วกรุงเทพฯ ตามแผนการดำเนินงานของหน่วยงานผู้ใช้ ซึ่งสามารถประเมินเป็นมูลค่าได้มากกว่า 100 ล้านบาท และยังมีความเป็นได้สูงที่จะมีการติดตั้งระบบเดียวกันนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต

นอกจากการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน โครงการวิจัยนี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมในด้านการพัฒนาภาพลักษณ์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โปร่งใสมากขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีที่เป็นการผสมผสานศาสตร์ระหว่างเทคโนโลยีการมองเห็นของคอมพิวเตอร์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ที่สามารถขยายผลของระบบไปตรวจการกระทำผิดกฎจราจรอื่น ๆ ได้ต่อไป เช่น โครงการตรวจจับผู้กระทำผิดไม่สวมหมวกกันน็อค โครงการตรวจจับการจอดรถในที่ห้ามจอด เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหาด้านการจราจรเป็นอันดับหนึ่งของโลก และปัญหาการเสียชีวิตจากการจราจรทางบก เป็นอันดับหนึ่งของโลก เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยเองจะช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและใช้งานได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของทั้งองค์กรโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนของเจ้าหน้าที่ และการพัฒนาสู่สังคมเมืองแบบ 4.0 ผลงานวิจัยที่ได้ของโครงการฯ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง จากมูลค่าที่ได้เกิดการใช้งานจริงแล้วทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ หากระบบดังกล่าวมีการใช้งานแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น และมีการประเมินผลกระทบทางอ้อมในการช่วยลดอัตราการกระทำผิด และลดอัตราในการเกิดอุบัติหตุ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินลงได้ คาดว่าจะลดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมหาศาล ส่งผลให้งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2560 ด้านพาณิชย์


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ในชื่อ ‘จ่าเฉยออกใบสั่งอัตโนมัติ คว้ารางวัลวิจัยเด่น สกว.ปี 60‘ วันที่ 3 มิถุนายน 2561