best custom writingthesis helpwrite my essaycloud mining ethereumresume writing
ด้วยพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต และความแพร่หลายของการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งเทคโนโลยีที่จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่ที่เรารู้จักการใช้ไฟ ผมเคยคิดว่าอินเทอร์เน็ตคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่พอๆ กับแท่นพิมพ์กูเทนแบร์ก แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเราคงต้องย้อนกลับไปไกลกว่านั้น
จอห์น แบร์โลว์1
อินเทอร์เน็ตปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันนำพาความสามารถทางเทคโนโลยีอันน่าตื่นตาตื่นใจใหม่ๆ แบบที่สื่อก่อนหน้าอย่างโทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น การสื่อสารกับคนที่อยู่อีกซีกโลกเพียงนิ้วสัมผัสด้วยราคาที่ถูกมาก การใช้แพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรม (Instagram) เปิดร้านขายของออนไลน์โดยแทบไม่มีต้นทุนใดๆ การทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) การสร้างสรรค์เนื้อหาและเผยแพร่ให้คนทั่วโลกเห็นผ่านยูทูบ (YouTube) จนคุณอาจกลายเป็นคนโด่งดังเหมือนจัสติน บีเบอร์ หรือกระทั่งการใช้เฟสบุ๊ค (Facebook) ของประชาชนชาวอียิปต์เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการ
คนไทยเองก็เข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ สถิติปี 2560 แสดงให้เห็นว่า คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึง 57 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 68 ล้านคน หรือร้อยละ 83.52 และใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อวันที่ 6 ชั่วโมง 24 นาที หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาแต่ละวันเลยทีเดียว3 นอกจากนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำล้วนเกี่ยวพันกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันห้วงเวลาดีๆ กับเพื่อนในโซเชียลมีเดีย การติดตามข่าวสารบ้านเมือง การค้นหาข้อมูลสุขภาพ การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะพลเมือง
โลกยุคดิจิทัลสร้างโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ให้กับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ ทว่าแม้เราอาจจะใช้อินเทอร์เน็ตราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ดูเหมือนคนจำนวนมากยังขาดทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ยังไม่รู้วิธีลดผลกระทบจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์ รวมถึงขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบในโลกยุคดิจิทัล
ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) คือแนวคิดและแนวปฏิบัติที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้พลเมืองเรียนรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ อย่างไร รวมทั้งรู้จักเคารพสิทธิของตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในโลกสมัยใหม่ ไปจนถึงเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อสังคม และใช้มันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราลองมารู้จักกับอินเทอร์เน็ตกันก่อน
อินเทอร์เน็ต: เทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21
อินเทอร์เน็ตที่บางคนบอกว่าเป็นเทคโนโลยีปฏิวัติโลกคืออะไรกันแน่? ถ้าพูดกันอย่างเป็นทางการ อินเทอร์เน็ต (internet) ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง interconnected (ที่เชื่อมต่อ) กับ network (เครือข่าย) คือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกจนเกิดเป็น “เครือข่ายของเครือข่าย” (network of networks) ซึ่งทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องใดในโลกก็สามารถเข้าถึงข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ รวมถึงสามารถสื่อสารกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ได้โดยอาศัยภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน
ทว่าถ้าพูดกันในระดับการใช้งาน อินเทอร์เน็ตก็คือสื่อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ อีเมล โซเชียลมีเดีย บล็อก วิดีโอสตรีมมิ่ง ระบบการส่งข้อความทันที (instant messaging) บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol หรือ VOIP) กระดานข่าวออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างช่องทางการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลในราคาที่ถูกมาก แต่ยังเป็นเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในระดับโลกอีกด้วย
อินเทอร์เน็ตกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยี
เราอาจมองอินเทอร์เน็ตกับการเปลี่ยนแปลงได้ใน 2 มิติ ได้แก่ 1) อินเทอร์เน็ตในฐานะการปฏิวัติด้าน “เทคโนโลยี” การสื่อสาร นั่นคือความสามารถเฉพาะตัวในทางเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และ 2) อินเทอร์เน็ตในฐานะการปฏิวัติที่นำไปสู่ “ผลลัพธ์ทางสังคม” ใหม่ๆ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงระดับชีวิตประจำวันของผู้คน
เราอาจสรุปคุณสมบัติด้านการสื่อสารของอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างจากเทคโนโลยีการสื่อสารก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ โทรเลข ภาพยนตร์ โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ได้ดังนี้
- อินเทอร์เน็ตทำให้ทรัพยากรสื่อสารนั้นมีราคาถูกลงและไม่ได้เป็นทรัพยากรที่จำกัดแต่ในมือผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนหากต้องการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักแห่ง เราต้องมีทุนจำนวนมหาศาล รวมถึงอาจต้องมีเส้นสายทางการเมือง เราถึงจะได้สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัด แต่ทุกวันนี้ แค่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถสร้างช่องของตนเองผ่านทางยูทูบได้ คุณสมบัตินี้ทำให้บางครั้งอินเทอร์เน็ตถูกเรียกว่า เทคโนโลยีที่สร้างประชาธิปไตยในการสื่อสาร เพราะแทบทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรสื่อสารได้
- อินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารไร้พรมแดนและก้าวข้ามข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของสารสนเทศไปทั่วโลก เกิดการเรียนรู้ข้อมูลและแนวคิดที่หลากหลาย รวมถึงช่วยสร้างความร่วมมือในระดับโลก
- เทคโนโลยีเว็บ 2.0 ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่เปิดให้ผู้ใช้ปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายข้อมูล บุคคล สถาบันต่างๆ ได้ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
- อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้ผู้ใช้กลายเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาได้ด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นผู้รับข้อมูลด้านเดียวเหมือนสื่อโทรทัศน์หรือวิทยุ (สื่อมวลชนแบบเดิมมีรูปแบบการสื่อสารแบบ one-to-many หรือการส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังมวลชน) อีกทั้งยังสามารถเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวไปยังกลุ่มคนในวงกว้างได้ (เรียกคุณสมบัตินี้ว่า mass self-communication หรือการสื่อสารโดยคนธรรมดาไปยังมวลชน) ความสามารถทางเทคโนโลยีเช่นนี้สนับสนุนวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้งอกงามยิ่งขึ้น
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟนทำให้เราสามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตแทรกซึมเข้าไปในทุกกิจกรรมของชีวิตเรา
- อินเทอร์เน็ตเปิดให้ผู้ใช้สามารถปรับการสื่อสารให้สอดคล้องกับความต้องการส่วนบุคคล (personalization) บางครั้งโดยการเลือกของผู้ใช้เอง และบางครั้งก็ผ่านการคัดกรองโดยอัลกอริธึม เช่น อินเทอร์เน็ตจะเลือกให้เราว่าเราชอบอ่านหนังสือหรือฟังเพลงแบบไหนโดยคาดเดาจากพฤติกรรมในโลกออนไลน์ของเรา
- อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อผสมที่หลอมรวมทั้งภาพ ตัวหนังสือ เสียง ภาพเคลื่อนไหว เข้าด้วยกัน รวมถึงสร้างการหลอมรวมระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ ทำให้การแพร่กระจายข้ามสื่อเป็นไปได้ง่ายขึ้น
อินเทอร์เน็ตกับการปฏิวัติสังคม
อินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบทางสังคมในหลายแง่มุม บางคนจินตนาการว่าอินเทอร์เน็ตจะนำพาการเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมคติ ตัวอย่างเช่น ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม เพิ่มเสรีภาพในการแสดงออกและการกำกับดูแลตนเองของพลเมือง ทำให้ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงงอกงามยิ่งขึ้น ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่บางคนไม่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจนำพาอันตรายใหม่ๆ มาด้วย อาทิเช่น เด็กและเยาวชนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงทางเพศและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การหลอกลวงเชิงพาณิชย์ในโลกออนไลน์ การสอดแนมความเป็นส่วนตัวและเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และความเหลื่อมล้ำที่ถูกผลิตซ้ำผ่านช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
คำถามที่ว่าอินเทอร์เน็ตจะสร้างสังคมที่ดีขึ้นหรือแย่ลงนั้นเป็นข้อถกเถียงสำคัญแห่งยุคสมัย และเราในฐานะพลเมืองต้องเป็นผู้ตอบเอง แม้เทคโนโลยีจะนำพาความเป็นไปได้ใหม่ๆ มาให้เรา แต่เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ทางสังคม พลเมืองดิจิทัลอย่างเราต่างหากที่เป็นผู้กำหนด
พลเมืองดิจิทัล: พลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้นิยาม “พลเมือง” ว่าคือ คนที่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันและมักมีวัฒนธรรมเดียวกัน ส่วนในความเข้าใจของคนทั่วไป พลเมืองคือบุคคลที่เกิดในประเทศนั้นๆ หรือได้รับสัญชาติและมีความจงรักภักดีต่อรัฐ รวมทั้งหมายถึงกลุ่มคนที่มีสิทธิและความรับผิดชอบร่วมกันในฐานะสมาชิกของสังคม อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เราดำรงชีวิต ทำงาน และเรียนรู้อยู่ในสังคมที่เชื่อมต่อกันในระดับโลก อีกทั้งเรายังทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ จนโลกเสมือนและโลกจริงแทบจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน การนิยามความเป็นพลเมืองโดยยึดติดกับ “ประเทศใดประเทศหนึ่ง” และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าชีวิตของเราส่วนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกสมัยใหม่อีกต่อไป
การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 นั้นแตกต่างจากการเป็นพลเมืองในศตวรรษก่อนหน้า การใช้ชีวิตในสังคมโลกและในสังคมออนไลน์ได้ขยับขยายแนวคิดความเป็นพลเมืองออกไป ความเป็นพลเมืองทุกวันนี้จึงไม่ได้ถูกตีกรอบแคบๆ ว่าหมายถึงการไปเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลกไปพร้อมๆ กัน ไปจนถึงการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม และปลอดภัย
เราอาจแบ่งแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองออกเป็น 3 แนวคิดหลัก ซึ่งความเป็นพลเมืองทั้งสามแบบนี้ทำงานร่วมกันมากกว่าแยกขาดจากกัน นั่นคือ
- ความเป็นพลเมืองชาติตามขนบ (traditional citizenship) แนวคิดความเป็นพลเมืองแบบเดิมนั้นให้ความสำคัญกับ “การเป็นสมาชิกภายใต้กฎหมายของรัฐชาติที่ตนสังกัด” หรือที่เรียกว่า “ความเป็นพลเมืองภายใต้กฎหมาย” (legal citizenship) สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นพลเมืองที่ดีตามแนวคิดนี้คือ การมีความรู้เกี่ยวกับรัฐบาลและหน้าที่พลเมืองตามกฎหมาย เช่น การไปเลือกตั้งและจ่ายภาษี
- ความเป็นพลเมืองโลก (global citizenship) แนวคิดความเป็นพลเมืองโลกวิพากษ์ความเชื่อที่ว่าพลเมืองจะต้องผูกติดกับความเป็นชาติและวัฒนธรรมชาติที่ตนสังกัดเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งตีกรอบความเป็นพลเมืองไว้คับแคบและกีดกันกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายออกจากความเป็นพลเมือง แนวคิดความเป็นพลเมืองโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงและการพึ่งพาอาศัยกันในระดับโลก และมีจิตสำนึกร่วมถึงปัญหาในระดับโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน พลเมืองที่อาศัยในสังคมโลกจึงต้องมีความสามารถและความเข้าใจในระดับโลก ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการเชื่อมโยงปรากฏการณ์ระหว่างท้องถิ่นกับโลก และทักษะการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างทั้งในเชิงภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ
- ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) แนวคิดความเป็นพลเมืองดิจิทัลพูดถึงความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อมีส่วนร่วมในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัย การปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารได้เปิดโอกาสและหยิบยื่นความท้าทายใหม่ๆ ให้กับพลเมืองดิจิทัล เราสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยไร้ข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์ เข้าร่วมชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา และทำให้เสียงของพลเมืองดังขึ้นในสังคม แต่เราก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น การสอดแนมความเป็นส่วนตัว อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเราในฐานะพลเมืองดิจิทัลจึงต้องตระหนักถึงโอกาสและความเสี่ยงในโลกดิจิทัล พัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นในโลกใหม่ และเข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบในโลกออนไลน์
นอกจากนั้นเราอาจนิยามความเป็นพลเมืองดิจิทัลออกเป็น 3 มิติ คือ
- มิติด้านความรู้เกี่ยวกับสื่อและสารสนเทศ พลเมืองดิจิทัลต้องมีความรู้ความสามารถในการเข้าถึง ใช้ สร้างสรรค์ ประเมิน สังเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือดิจิทัล ดังนั้นพลเมืองยุคใหม่จึงต้องมีความรู้ด้านเทคนิคในการเข้าถึงและใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงทักษะในการรู้คิดขั้นสูง เช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งจำเป็นต่อการเลือก จัดประเภท วิเคราะห์ ตีความ และเข้าใจข้อมูลข่าวสาร
- มิติด้านจริยธรรม พลเมืองดิจิทัลจะใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ และมีจริยธรรมได้อย่างไร พลเมืองที่ดีจะต้องรู้จักคุณค่าและจริยธรรมจากการใช้เทคโนโลยี ต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ อาทิ เสรีภาพในการพูด การเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และการปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์ ภาพลามกอนาจารเด็ก สแปม เป็นต้น
- มิติด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม พลเมืองดิจิทัลต้องรู้จักใช้ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อินเทอร์เน็ตเป็นได้ทั้งเครื่องมือเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบ เช่น รัฐบาลใช้อินเทอร์เน็ตในการรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนออกกฎหมาย การลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) หรือการยื่นคำร้องออนไลน์ (online petition) นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังใช้ส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองผ่านวิธีการใหม่ๆ ซึ่งท้าทายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับโครงสร้าง5
-
กล่าวโดยสรุป การจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีนั้น เราจะต้องมีชุดทักษะและความรู้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการคิดขั้นสูง หรือที่เรียกว่า “ความรู้ดิจิทัล” (digital literacy) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ รู้จักป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ในโลกออนไลน์ เข้าใจถึงสิทธิ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมที่สำคัญในยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ทั้งเพื่อตนเอง ชุมชน ประเทศ และโลก
คู่มือสร้างพลเมืองดิจิทัล
คู่มือพลเมืองดิจิทัล เล่มนี้พูดถึงชุดทักษะและความรู้ การรักษาความปลอดภัย สิทธิและความรับผิดชอบ รวมถึงโอกาสและความท้าทายแห่งยุคสมัย ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์
ในโลกดิจิทัลที่เราเวียนว่ายอยู่ในข้อมูลที่ท่วมท้น ทักษะกับความรู้ดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการเข้าถึง ประเมิน ใช้ และสรรค์สร้างข้อมูล มีความสำคัญต่อการเป็นพลเมืองที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น การพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจะช่วยให้เราใช้ชีวิตในสังคมเศรษฐกิจยุคใหม่โดยห่างไกลจากภัยออนไลน์
ในฐานะพลเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม การเรียนรู้และเข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี นอกจากนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับโอกาสแห่งศตวรรษใหม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ ผ่านกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ จะช่วยให้เราจินตนาการถึงสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่พึงปรารถนาและร่วมสร้างสรรค์มันขึ้นมาได้จริง สุดท้าย พลเมืองดิจิทัลจะต้องเข้าใจและเตรียมรับมือกับความท้าทายในยุคดิจิทัล อาทิ ความเป็นกลางของเครือข่าย (net neutrality) ช่องว่างดิจิทัล (digital divide) เพื่อให้อินเทอร์เน็ตเป็นพลังที่สร้างสรรค์ทั้งกับตัวเราเองและสังคมในศตวรรษที่ 21
อ้างอิง
1 John P. Barlow, “Is There a There in Cyberspace?” Utne Reader (March-April 1995): 50-56, Quote in Barry Wellman, “Studying the Internet Through the Ages,” in The Handbook of Internet Studies, edited by Robert Burnett, Mia Consalvo and Charles Ess (UK: Wiley-Blackwell, 2010).
2 Internet World Stats, “Asia Marketing Research, Internet Usage, Population Statistics and Facebook Subscribers,” last modified April 16, 2018.
3 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, “คนไทยใช้เน็ตอย่างไร? ในปี 60,” กันยายน 29, 2560, แก้ไขเมื่อ เมษายน 30, 2561.
4 Brian W. Kernighan, Understanding the Digital World: What you need to know about computers, the internet, privacy and security (Princeton and Oxford: Princeton University Press, 2017). และ พิรงรอง รามสูตร, การกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556).
5 Moonsun Choi, “A Concept Analysis of Digital Citizenship for Democratic Citizenship Education in the Internet Age,” Theory & Research in Social Education 44, 4 (2016): 565-607.essay writerbuy essays online