หน้าแรก › ฟอรั่ม › ถาม-ตอบ เรื่อง พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) › การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต › ตอบกลับไปยัง: การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต
การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ในเบื้องต้นเราอาจถามตัวเองก่อนกับ 4 คำถาม ได้แก่
1. ที่ไหน: ข่าวสาร ข้อมูล และความคิดเห็น ถูกเผยแพร่ผ่านแหล่งข้อมูลประเภทใด เป็นเว็บไซต์ธุรกิจ สถาบันข่าว หรือบล็อกส่วนตัว แล้ววัตถุประสงค์ของเว็บนั้นคืออะไร เพื่อขายสินค้า เพื่อโน้มน้าว เพื่อให้ข้อมูล เพื่อความบันเทิง เพื่อประโยชน์สาธารณะ เราสามารถเช็คโดเมนเนมเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสถาบันได้ เช่น .edu กับ .gov จะเป็นโดเมนเนมที่กันไว้สำหรับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐเท่านั้น ส่วน .com หรือ .net นั้น ใครก็สามารถใช้ได้
2. ใคร: เราควรตรวจดูว่าใครเป็นผู้ผลิตเนื้อหานั้นๆ แล้วลองสืบค้นดูคุณสมบัติและบริบทแวดล้อมตัวผู้ผลิตว่ามีแรงจูงใจอะไร นอกจากนั้นเราสามารถตรวจสอบได้ที่หัวข้อ “เกี่ยวกับเรา” (about us) ลองอ่านประวัติขององค์กรผู้จัดทำ เป้าหมาย ผลงานที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ติดต่อ ทั้งหมดนี้จะช่วยเราตัดสินใจว่าเว็บไซต์นี้น่าเชื่อถือมากเพียงใด
3. อะไร: เนื้อหาที่ถูกนำเสนอนั้นมีข้อมูล แนวคิด และมุมมองอย่างไร ถูกนำเสนออย่างรอบด้านหรือไม่ ถ้าไม่ เราควรใช้กฎเลขสาม คือเปรียบเทียบแหล่งข้อมูลอย่างน้อยสามแหล่ง โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่นำเสนอข้อมูลอีกด้านด้วย นอกจากนั้นเว็บไซต์ที่ออกแบบดี เป็นระบบ ให้ความสำคัญกับการใช้งานจริงของผู้ใช้ รวมถึงใส่ใจกับการการสะกดคำ ย่อมน่าเชื่อถือมากกว่าเพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้จัดทำใส่ใจกับเนื้อหาและการนำเสนอจริงๆ ไม่ใช่ทำขึ้นมาเพื่อหวังผลระยะสั้น
4. เมื่อใด: ควรตรวจสอบว่าเนื้อหานั้นเผยแพร่ออกมาเมื่อใด เพื่อดูว่าเนื้อหานั้นทันสมัยหรือเปล่า และเพื่อให้เข้าใจบริบทด้านเวลาที่เนื้อหานั้นถูกสร้างขึ้น