มีเดียปรับตัวสู่ ‘ยุค AI’! ทุ่มงบเพิ่มประสิทธิภาพ รุกบิ๊กดาต้าเจาะผู้บริโภค

อุตสาหกรรมสื่อเร่งปรับตัวสู่ ‘ยุค AI’ รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง-ซับซ้อนขึ้น หลังเทคโนโลยีพลิกโฉม … ‘วีจีไอ’ ควัก 3,000 ล้าน พัฒนาสื่อในมือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาด … ‘ไอพีจี’ เปิดบริการให้คำปรึกษาจัดการบิ๊กดาต้า พร้อมแนะ 9 วิธี จัดการคลังข้อมูล

การเข้าสู่ยุคดิจิตอลทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายจากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสผ่านสมาร์ทโฟน ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การรับรู้ข้อมูลไม่ได้พึ่งพาสื่อหลัก อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สิ่งพิมพ์ แต่กลับไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกของสื่อออนไลน์ ที่สามารถตอบสนองความต้องการอยากรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างตรงจุดมากกว่า และสามารถเลือกได้ว่า จะรับข้อมูลข่าวสารเรื่องที่ต้องการได้

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แค่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่บรรดาเอเยนซี หรือ นักการตลาดต่างต้องปรับตัว เพื่อเตรียมรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้คลังข้อมูลที่มีมหาศาล หรือ Big Data มาช่วยในการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค แต่จากปริมาณของ Big Data ที่มีมหาศาล การทำงานและวิเคราะห์ข้อมูลที่จะให้ได้ประสิทธิภาพและแม่นยำ แนวทางการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จึงเป็นแนวทางที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว

นายเนลสัน เหลียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้มีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบ AI เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งเตรียมงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินทุนจากการแปลงวอร์แรนต์มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท จะนำไปชำระหนี้จากการซื้อหุ้นของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาท จะเป็นการนำไปใช้ในการพัฒนาสื่อเดิม หลังจากที่วีจีไอได้พัฒนาโซลูชัน O2O (Offline-to-Online) ที่เป็นการผสานการทำงานระหว่างสื่อออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน

ปัจจุบัน วีจีไอมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน อาทิ สื่อเคลื่อนที่ ป้ายโฆษณา สื่อในสนามบิน สื่อในอาคารสำนักงาน และสื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจให้บริการชำระเงินของ แรบบิท กรุ๊ป และธุรกิจโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส และเดโม เพาเวอร์ โดยมีฐานข้อมูลกระจายอยู่ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงลงโฆษณาผ่านสื่อโฆษณานอกบ้านในสัดส่วน 90% และสื่อออนไลน์สัดส่วน 10% แต่แนวโน้มกลุ่มลูกค้าเริ่มหันมาใช้บริการในรูปแบบ O2O เพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถสร้างการรับรู้และยังสามารถมีส่วนร่วมในแบรนด์สินค้าได้มากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดยอดขายจากการจัดแคมเปญการตลาดด้วยเครื่องมือดังกล่าว

“ปัจจุบัน การตลาดและการสื่อสารแบบออนไลน์ เป็นช่องทางสำคัญในธุรกิจสื่อโฆษณาวีจีไอ จึงได้พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เป็นมากกว่าการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ จึงมั่นใจว่า ภายในระยะ 3 ปีนับจากนี้ จะสามารถทำรายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท”

ด้าน น.ส.กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี กรรมการผู้จัดการฝ่าย Data & Analytics, IPG Mediabrands กล่าวว่า ปัจจุบัน เริ่มมีแบรนด์สินค้าที่ให้ความสำคัญกับ Big Data โดยนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลในด้านการจัดทำแคมเปญการตลาด เพราะผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อนและมีความต้องการที่หลากหลายในแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น องค์กรชั้นนำเริ่มวางแผนมีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งบริษัทเองก็เห็นเทรนด์ดังกล่าว จึงได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาบริการให้กับลูกค้าที่ประสบปัญหาด้านการจัดการข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จากการรายงานของ SCB EIC พบว่า มูลค่าตลาดบิ๊กดาต้า มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยเติบโตมากกว่าเท่าตัวทุกปี และคาดว่า มูลค่าจะเพิ่มขยับเป็น 1.32 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2565 สะท้อนถึงจำนวนข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักการตลาด หรือ ภาคธุรกิจ นำไปใช้ต่อยอดในเชิงการทำตลาด หรือ เพื่อการสื่อสารต่าง ๆ จะยิ่งซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น

แม้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยจะเริ่มให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า แต่ยังมีสัดส่วนประมาณ 59% และเป็นช่วงการเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่ ผู้นำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์และประสบความสำเร็จ มีสัดส่วนเพียง 19% ยังมีภาคธุรกิจอีกเกือบครึ่งที่ยังไม่ได้เริ่มนำประโยชน์จากบิ๊กดาต้าไปใช้เลย

สำหรับองค์กรที่จะเริ่มนำระบบบิ๊กดาต้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพนั้น มีขั้นตอนการดำเนินงานอยู่ด้วยกัน 9 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เริ่มต้นจาก Business Issue ว่า ต้องการใช้ประโยชน์ หรือ แก้ปัญหาเรื่องอะไร , 2.Data Analytics การใช้เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ในเบื้องต้น อาจจะใช้โปรแกรมพื้นฐานมาช่วยในการวิเคราะห์ก่อนก็ได้ , 3.การจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ในที่เดียวกัน , 4.การเรียนรู้จากการใช้งานจริง , 5.ต้องลงทุนในการเรียนรู้บ้าง , 6.ต้องนำประเด็นของบิ๊กดาต้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานขององค์กร , 7.มีการวางโครงสร้างองค์กรให้มีหน่วยงานบิ๊กดาต้า ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานกลาง หรือ อาจจะอยู่ภายใต้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ , 8.ต้องสร้างการรับรู้ให้กับคนในองค์กรเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และ 9.การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการให้น้ำหนัก ทั้งด้านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์


ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ในชื่อ ‘มีเดียปรับตัวสู่ ‘ยุค AI’! ทุ่มงบเพิ่มประสิทธิภาพ รุกบิ๊กดาต้าเจาะผู้บริโภค‘ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561