เมื่อ Virtual Reality ขึ้นเวทีการเมือง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการประชุมใหญ่ของ พรรคอนาคตใหม่ คงเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ ณ เส้นขอบฟ้าการเมืองของใครหลายคน ที่แน่ๆ สำหรับพวกเราเอง เพราะกิจกรรมนี้ได้พัดเอากลิ่นของประชาธิปไตยมาเตะจมูก กลิ่นที่วัยรุ่นอย่างพวกเราเคยสัมผัสเป็นเวลาแสนสั้นในชีวิต แม้ไม่รู้ชะตาอนาคต แต่กิจกรรมในยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้นก็ทำให้เราเห็นเค้าลางของการเลือกตั้งที่ถูกผลัดมาเนิ่นนาน กลับชัดขึ้นมาบ้าง

ย้อนไปในความทรงจำ บรรยากาศการปราศรัย, ติดป้าย, เดินสายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในบ้านเราครั้งล่าสุดผ่านพ้นมานานเกือบสิบปี เวลานั้นเทคโนโลยีที่ทำให้เรารับรู้ข่าวสารและนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนยังจำกัด ในยุคที่ Social media และเทคโนโลยีของสื่อยังไม่เบ่งบานเท่าวันนี้

ด้วยสายตาของนักออกแบบมัลติมีเดีย การเลือกตั้งที่กำลังจะถึงในเวลาไม่นานเกินรอนี้ เราสนใจเหลือเกินว่าผู้สมัครแต่ละคนจะสื่อสารนโยบายและหาเสียงด้วยวิธีการที่ล้ำกันขนาดไหนภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น Third Eye View ตอนที่ 4 ขอพาย้อนกลับไปในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 

ในปี 2016 หนังสือพิมพ์ The New York Times ต้องการจุดประกายให้คนหันมามองเทคโนโลยีที่ทุกคนรู้จักกันดีในฐานะเครื่องมือเพื่อความบันเทิงอย่าง Virtual Reality หรือเรียกสั้นๆ ว่า VR ด้วยสายตาใหม่

The New York Times กำลังบอกว่าเจ้า VR นี่ล่ะคือเครื่องมือชิ้นถัดไปที่จะมาสร้าง ‘อิมแพค’ ทางการเมือง อย่างที่โทรทัศน์เคยทำได้เมื่อหลายสิบปีก่อน ว่าแล้วก็ส่ง Google Cardboard (แว่นกระดาษสำหรับใช้งาน VR ผ่านโทรศัพท์มือถือ) แนบไปกับหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะเริ่มเดินสายปราศรัยหาเสียงไม่นาน

และเมื่อช่วงเวลาของการปราศรัยมาถึง The New York Times ก็จัดการเปิดตัวแอพลิเคชัน The Contenders แอพลิเคชัน Virtual Reality ที่พาคนดูไปยืนท่ามกลางการปราศรัยของ Bernie Sanders, Hillary Clinton, Ted Cruz และ Donald Trump ผู้สมัครประธานาธิบดีในเวลานั้น อย่างที่รู้กันว่าช่วงเวลาการปราศรัยเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้น คนเดินดินธรรมดาสามารถเข้าถึง พูดคุยกับนักการเมืองที่ตัวเองเชียร์อยู่แบบตัวเป็นๆ หรือแม้กระทั่งยิงคำถามโจมตีคนที่ตัวเองไม่ชอบ

แล้วการดูปราศรัยผ่าน VR มันสร้าง ‘อิมแพค’ อย่างที่ว่าไว้ยังไง ?

The New York Times บอกว่าในยุคโทรทัศน์ คนที่ไม่ได้ไปร่วมการปราศรัยหาเสียงในพื้นที่จริง ก็จำต้องดูผ่านมุมแคบๆ ของกล้องที่ถูกเฟรมโดยตากล้องสำนักข่าว พลังของภาพและเสียงที่ ‘ถูกจัดวาง’ ทั้งสามารถขับให้การปราศรัยตรงหน้าทรงพลัง หรือแม้กระทั่งบดขยี้การปราศรัยให้เละไม่มีชิ้นดีก็ย่อมได้

แต่ด้วยธรรมชาติของ Virtual Reality ทำให้คนดูสามารถเป็นหนึ่งในฝูงชนที่ยืนอยู่ตรงนั้น คุณสามารถหันมองไปทางไหนก็ได้ นอกจากนักการเมือง คุณจะได้เห็นใบหน้า ได้ยินเสียง และรู้สึกถึงคนดูที่ยืนรายรอบการปราศรัยของผู้สมัครทุกคนแบบเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูก ‘เลือกให้มอง’ ผ่านโทรทัศน์เหมือนเคย

Virtual Reality ไม่เพียงพาไปสู่กิจกรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ ประสิทธิภาพที่สามารถพาคุณไป ‘being there’ หรือเสมือนยืนอยู่ที่นั่นจริง ทำให้มันถูกใช้สร้างภาพความคิดหรือนโยบายทางการเมือง ที่แต่เดิมได้เพียงคุยฟุ้ง ให้เห็นเป็นรูปธรรม

ผ่านไปแปดเดือนหลัง Donald Trump ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา นโยบายที่ดูเหมือนจะถูกพูดถึงมากที่สุดคือการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯและเม็กซิโก นโยบายนี้ถูกยิงในหลายประเด็นทั้งเรื่องผู้อพยพ, การเหยียดสีผิว ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

แทนที่สำนักข่าว USA Today Network จะหยิบประเด็นมาตีให้สถานการณ์ยิ่งแรง กลับเลือกที่จะใช้ Virtual Reality สร้างกำแพงกั้นแดน ขนาดและความยาวจริง บนสภาพภูมิศาสตร์จริงขึ้นมาด้วยภาพสามมิติผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เอาให้เห็นชัดๆ ไปเลยว่าถ้ากำแพงเกิดขึ้นจะเป็นยังไง โดยเน้นที่ 8 จุดสำคัญที่กำแพงตัดผ่าน อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติ, แลนด์มาร์ค หรือเมืองสำคัญ

Maribel Wadsworth ผู้บริหารสำนักข่าวบอกว่า The Wall คือโปรเจ็กต์ที่ USA Today Network พยายามจะผลักขอบเขตการนำเสนอข่าวไปสู่พรหมแดนใหม่ วิธีการเล่าเรื่องใหม่ โดยยึดหน้าที่ของสื่อที่ต้องคำนึงถึงความเป็นกลาง เธอบอกว่าวิธีการของ VR ทำให้คนไม่ต้องคิดภาพไปเอง และลองไปยืนในจุดที่เรื่องราวจะเกิดขึ้นแบบปราศจากความลำเอียง

ใกล้บ้านเราในไต้หวัน Huang Kuo Chang สมาชิกสภาพรรคฝ่ายค้าน New Power Party  (ขวา) ใช้ Virtual Reality สร้างภาพอนาคตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในไต้หวันขึ้นมาเช่นกัน แว่น VR ที่นายกรัฐมนตรี Lin Chuan (ซ้าย) กำลังสวมแสดงภาพการ์ตูนกราฟิกเนื้อหาพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังร่อแร่จากค่าแรงที่ต่ำ เพื่อโน้มน้าวไปสู่นโยบายผลักดันไต้หวันไปสู่การเป็น Asia’s Silicon Valley หรือแหล่งผลิตเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

หลังรับชมเนื้อหาในแว่นจบ แว่นยังฝังโปรแกรมที่สามารถพยักหน้าเลือก Yes หรือ No เพื่อให้นายกตอบรับหรือปฏิเสธนโยบาย

และขอแสดงความยินดีย้อนหลังกับนาย Huang ด้วย เพราะนายกพยักหน้าตอบ Yes !

ด้วยเครื่องมือชิ้นเดียวกันคือ Virtual Reality ที่เราเคยรู้จักในฐานะอุปกรณ์เล่นเกมส์หรือชมภาพยนตร์ ทว่าเมื่อถูกหยิบมาใช้ในเวทีการเมืองกลับกลายเป็นสื่อชนิดใหม่ที่สร้างความเท่าเทียมในการนำเสนอ หรือแม้กระทั่งจำลองภาพอนาคตให้เราได้เห็น ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้เต็มไปด้วยนักการเมืองรุ่นใหม่และกลุ่มคนใหม่ๆ เราจึงอดคาดหวังไม่ได้ที่จะเห็น ‘เครื่องมือใหม่ๆ’ บนเวทีการหาเสียง, พลานุภาพของงานออกแบบเมื่อผสานกับการเมืองที่มากไปกว่าป้ายหาเสียงหรือภาพยนตร์โฆษณา และเทคโนโลยีใหม่ที่เราคาดไม่ถึงในการนำเสนอนโยบาย หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเองก็ตาม

เราอาจจะได้เห็นการนำเสนอนโยบายผ่าน Virtual Reality ที่จำลองฟุตปาธกรุงเทพแบบที่กว้าง 5 เมตร ไร้อิฐตะปุ่มตะป่ำ และมีเลนจักรยาน, จำลองการนั่งในรถเมล์ที่ได้มาตรฐาน ควันไม่ดำ ขับอย่างสุภาพ หรือจำลองถนนลาดพร้าวแบบที่รถไม่ติดและน้ำไม่ท่วมทุกครั้งที่ฝนตก

 

แต่เหนืออื่นใด เราขอภาวนาให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ไม่ได้เป็นเพียง Virtual Reality !

 

อ้างอิง

https://www.digitalbodies.net/virtual-reality/the-ny-times-vr-film-of-the-presidential-campaign/

https://www.devicedaily.com/pin/the-complexity-of-trumps-border-wall-proposal-explained-in-vr/

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/taiwan-premier-wears-virtual-reality-goggles-in-parliament-to-discuss-islands-tech

 


เรื่อง: Eyedropper Fill

ที่มา: เว็บไซต์ The101.world ในชื่อ “เมื่อ Virtual Reality ขึ้นเวทีการเมือง” วันที่ 7 มิถุนายน 2561