write my paperessay writingcustom writingesylium
เราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง มาใช้มันอย่างชาญฉลาดกันเถอะ
– จิมมี เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย
หลังจากที่เราเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตไปหลากหลายมิติแล้ว ทั้งความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคอินเทอร์เน็ต การรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในโลกสมัยใหม่ รวมถึงสิทธิและความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองดิจิทัล ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะมาดูกันว่า อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสใหม่ๆ อะไรให้กับเราบ้าง และเราจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร
อินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบและเปิดให้ใครก็ตามสร้างสรรค์นวัตกรรมบนอินเทอร์เน็ตได้ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและเผยแพร่แอปพลิเคชั่นไปยังตลาดกลุ่มใหญ่โดยไม่ต้องมีทุนมากมาย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่หลากหลายในราคาที่ถูกลง พลเมืองสามารถเข้าถึงข่าวสารและแนวคิดทางการเมืองจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะที่อินเทอร์เน็ตสร้างขึ้น หรือกระทั่งเป็นผู้สรรค์สร้างเนื้อหาด้วยตนเอง
งานศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งโอกาสขึ้นใหม่ในหลากหลายมิติ ในโลกแห่งการทำงาน เกิดวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ ในโลกของตลาด เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบตื่นตัว ในโลกแห่งรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เกิดวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโลกแห่งการเมือง เกิดวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคนธรรมดา ในโลกของสื่อ เกิดวัฒนธรรมการเป็นผู้รับสื่อที่ตื่นตัวและใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ด้วยตนเอง และในโลกแห่งการศึกษา เกิดวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนต้องแสวงหาและจัดการความรู้ตนเองผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์1
การสำรวจว่าอินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสอะไรให้เราบ้างทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ ผ่านกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง จะช่วยให้เราในฐานะพลเมืองดิจิทัลสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ทางสังคมที่อินเทอร์เน็ตหยิบยื่นให้ และร่วมลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
โอกาสทางเศรษฐกิจ
งานศึกษาของโออีซีดี2 ชี้ให้เห็นความสำคัญของอินเทอร์เน็ตในการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม 4 ด้าน คือ 1) การขยายเครือข่ายการค้า การลงทุน การเคลื่อนไหวของแรงงานที่เปี่ยมทักษะ 2) การทดลองโมเดลทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะกับบริษัทหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ 3) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างแรงงาน ทุน ทักษะ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และ 4) การลงทุนในนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้สูงสุด
งานศึกษาของบริษัทดีลอยต์ (Deloitte) แสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ดังนี้
ภาพที่ 1 วงจรการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอินเทอร์เน็ต3
งานของดีลอยต์ประเมินว่าการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยเพิ่มรายได้ให้พวกเขาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนงานของสถาบันแมคคินซีย์โลก (McKinsey Global Institute) ในปี 2011 ประเมินว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว อินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีโดยเฉลี่ยถึง 21 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย และบราซิล อินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพี 11 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน4
นอกจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในระดับมหภาคแล้ว อินเทอร์เน็ตมีส่วนส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ดังต่อไปนี้
1. อินเทอร์เน็ตขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่
อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เชื่อมต่อกับผู้คนและธุรกิจอื่นๆ และเปิดตลาดใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ช่องทางการขายและการซื้อสินค้า ไปจนถึงการออกแบบ การผลิต การตลาด และการแพร่กระจายสินค้าและบริการ หรือที่เราเรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)
เราเห็นบทบาทของอินเทอร์เน็ตในการสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในแง่ที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจแบบเดิม เช่น การขยายช่องทางการขายสินค้าและบริการมาสู่โลกออนไลน์เพื่อสื่อสารกับฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น และในแง่ที่ช่วยสร้างสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมา เช่น ยูทูบที่สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถถ่ายทำวิดีโอและเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ แอมะซอน (Amazon) ที่สร้างร้านหนังสือออนไลน์แบบใหม่ สปอติฟาย (Spotify) ที่สร้างประสบการณ์การฟังเพลงแบบใหม่ หรือแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ที่สร้างแพลตฟอร์มให้คนที่ต้องการปล่อยห้องเช่ากับคนที่ต้องการหาที่พักมาพบกัน
งานศึกษาของแมคคินซีย์ชี้ให้เห็นว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ผลเชิงบวกที่อินเทอร์เน็ตมีต่อการทำธุรกิจกลับเกิดกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า โดยเอสเอ็มอีที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตจะเติบโตเร็วกว่าธุรกิจที่ไม่ใช้ถึงสองเท่า มีรายได้จากการส่งออกมากกว่าสองเท่า และสร้างงานในบริษัทมากกว่าสองเท่า นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้เอสเอ็มอีกลายเป็นบริษัทระดับโลกที่สามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงผู้บริโภค การค้นหาซัพพลายเออร์ การเฟ้นหาคนทำงานฝีมือดี และการทำการตลาด จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บริษัทข้ามชาติขนาดเล็ก” ทั่วทุกมุมโลก
2. การสร้างนวัตกรรมภายใต้การแข่งขันที่เท่าเทียม
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งนวัตกรรมคือ การเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเข้ามาสร้างสรรค์สินค้าและบริการได้บนเครือข่ายที่เป็นกลาง หรือที่บางคนเรียกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลักษณะนี้ว่า “เครือข่ายซื่อบื้อ” (dumb network)
เครือข่ายซื่อบื้อในที่นี้หมายถึงหลักการทำงานของอินเทอร์เน็ตที่จะส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ให้บริการโครงข่ายจะทำหน้าที่เป็นแค่ท่อส่งข้อมูลเท่านั้น ส่วนภูมิปัญญาที่แท้จริงจะอยู่ปลายขอบของเครือข่ายทั้งสองด้าน หรือก็คือผู้ให้บริการเนื้อหาและแอปพลิเคชั่นกับผู้ใช้นั่นเอง ในโลกการสื่อสารผ่านเครือข่ายซื่อบื้อนี้ คนที่จะตัดสินว่าสินค้าหรือบริการไหนดีที่สุดก็คือตัวผู้ใช้
หลักความเป็นกลางของเครือข่าย (net neutrality) ดังกล่าวทำให้เกิดนวัตกรรมที่ปลายขอบ (innovation at the edge) อย่างแท้จริง เพราะต่อให้เราเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่ได้มีทุนมากมายในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่ถ้ามีไอเดียหรือนวัตกรรมที่สุดยอด เราก็สามารถเป็นผู้ชนะในเกมนี้ได้ ตัวอย่างเช่น สไกป์ (Skype) ที่เริ่มให้บริการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (VOIP) ในปี 2003 และประสบความสำเร็จจนมีผู้ใช้บริการหลายร้อยล้านคน การให้บริการดังกล่าวถือเป็นคู่แข่งกับบริษัทโทรคมนาคมที่มีรายได้หลักมาจากการให้บริการโทรศัพท์ ดังนั้นหากบริษัทโทรคมนาคมสามารถควบคุมเครือข่ายและทำให้บริการของสไกป์มีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะให้บริการวีโอไอพีได้แล้ว สไกป์ก็คงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้
อีกกรณีคือยูทูบซึ่งเริ่มให้บริการแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ใครก็ตามสามารถแบ่งปันวิดีโอร่วมกันได้ในปี 2005 ยูทูบถือเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้มีทุนมากมาย หากคู่แข่งที่ให้บริการคล้ายกันแต่มีทุนหนากว่าสามารถจ่ายเงินให้บริษัทไอเอสพีเพื่อให้บริการของตนเร็วกว่า ยูทูบก็อาจจะพ่ายแพ้ตั้งแต่ต้นทั้งที่บริการของตนดีกว่าคู่แข่ง แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเป็นกลาง ผู้ใช้จะเป็นคนเลือกผู้ชนะเอง
เครือข่ายซื่อบื้อหรือเครือข่ายที่เป็นกลางของอินเทอร์เน็ตนั้น คือหลักการสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้ใครก็ตามที่มีไอเดียหรือนวัตกรรมสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนได้ภายใต้การแข่งขันที่เท่าเทียม เงื่อนไขดังกล่าวช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มาจากคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม และลบความเชื่อที่ว่ามีแต่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ๆ
3. ภูมิปัญญารวมหมู่กับการสร้างนวัตกรรมสาธารณะ
อินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เครื่องมือในการสร้างสรรค์ แบ่งปัน และทำงานร่วมกับผู้อื่นนี้ ยังถูกใช้โดยผู้คนมากมายที่มีเวลาว่างและต้องการแบ่งปันความรู้ความสามารถที่ตนมีเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมสาธารณะร่วมกับผู้อื่น หรือที่เราเรียกกันว่าภูมิปัญญารวมหมู่ (collective intelligence) ซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความรู้ผ่านความร่วมมือของผู้คนมากมายในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นไม่จำเป็นต้องมีองค์กรกลางหรือการจัดการแบบรวมศูนย์
ผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญารวมหมู่อาจเป็นนวัตกรรมที่บริษัทไม่สนใจ (อาจเพราะงานสร้างสรรค์นั้นทำกำไรไม่มากพอ หรือบริษัทไม่สามารถใช้ประโยชน์จากผลกระทบภายนอกเชิงบวกที่เกิดขึ้นได้) แต่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ตัวอย่างภูมิปัญญารวมหมู่ที่สำคัญก็เช่นวิกิพีเดีย สารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลินุกซ์ (Linux) ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายที่มีคนดาวน์โหลดเยอะที่สุด เซติ (SETI) โครงการที่อาสาสมัครทั่วโลกแบ่งปันพลังการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อวิเคราะห์คลื่นวิทยุที่อาจเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือยุพิน (YouPin) แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนกรุงเทพฯ แจ้งปัญหาต่างๆ ในเมือง เช่น ตู้โทรศัพท์ขวางทางเดิน เพื่อรายงานให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไขต่อไป
4. อินเทอร์เน็ตกับการสร้างผู้บริโภคที่ตื่นตัว
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตบางทีอาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้บริโภคด้วย เพราะอินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยเพิ่มการแข่งขันผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ แต่ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประชาชนด้วย เช่น เราสามารถเปรียบเทียบราคาคอมพิวเตอร์ที่ต้องการซื้อได้จากหลายแหล่ง ค้นหาโรงงานผลิตสินค้าหรือห้องที่เราต้องการเช่าได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมถึงประหยัดเวลาจากการขับรถออกไปซื้อของ งานของสถาบันแมคคินซีย์โลกแสดงให้เห็นว่า เว็บไซต์และเครื่องมือค้นหาที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคา ทำให้ราคาสินค้าออนไลน์ถูกกว่าราคาในร้านจริงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์8
โอกาสทางการเมือง
อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสทางการเมืองให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ให้สาธารณะติดตามและตรวจสอบการทำงานได้ และใช้เครื่องมือดิจิทัลดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนผ่านการให้ข้อมูล การปรึกษาหารือ หรือกระทั่งการร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีความสำคัญกับชีวิตพวกเขา
นอกจากอินเทอร์เน็ตจะปรับภูมิทัศน์การเมืองในระบบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันยังเสริมพลังให้กับการเมืองภาคประชาชนผ่านการสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) หมายถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการให้บริการประชาชน เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณะ และดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชาชนกับรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลกับหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติดังนี้
1. การให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ
บางคนอาจเคยรู้สึกเบื่อที่ต้องเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐและใช้เวลาค่อนวันกว่าจะได้รับบริการ หรือที่แย่กว่านั้นคือต้องไปติดต่อมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน แต่ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศเริ่มใช้ไอซีทีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำเสนอบริการสาธารณะผ่านอินเทอร์เน็ตแบบรวมศูนย์ที่จุดเดียว (one-stop service) ซึ่งช่วยให้การติดต่อกับหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายสำหรับประชาชนอย่างเรามากขึ้น
ทว่าบริการที่หลอมรวมผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาล 1) สร้างแพลตฟอร์มทางเทคนิคเพื่อให้การประสานงานภายในและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างราบรื่น 2) สร้างระบบการทำงานข้ามองค์กรที่เข้มแข็ง เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทำงานร่วมกันได้ 3) สร้างระบบที่สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนออนไลน์ที่ไว้ใจได้ และ 4) มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีพอ
นอกเหนือจากการให้บริการภาครัฐผ่านเครือข่ายสาธารณะแล้ว เทคโนโลยีการใช้เซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) ซึ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จะช่วยให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงบริการได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ดังเช่นกรณีของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
2. การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
รัฐคือหน่วยงานที่ถือครองข้อมูลสำคัญมากมายในหลากหลายประเด็น เช่น ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลการจราจร ข้อมูลสาธารณสุข ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open government data) ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ต้นทุนการเปิดเผยข้อมูลมีราคาถูกลง ประเทศที่ริเริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จากนั้นรัฐบาลอื่นเกือบทุกประเทศก็นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญของแทบทุกรัฐบาล เช่น เกาหลีใต้ที่ประกาศแนวคิดเรื่อง Government 3.0
การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐนั้นหมายถึงการเปิดให้เข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย นำไปใช้ใหม่ได้โดยอิสระ และผสมผสานกับชุดข้อมูลอื่นได้ รวมถึงนำไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนฐานคิด “open by default” หรือต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นค่าตั้งต้น แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ข้อมูลที่เปิดเผยต้องไม่สามารถระบุตัวตนในระดับบุคคล ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือเปิดเผยความลับทางการค้า รวมถึงไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐนั้นมีประโยชน์รอบด้าน ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม คู่มือ Open Data Handbook ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิโอเพ่นโนวเลดจ์ (Open Knowledge Foundation) และแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในปี 255811 ได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เช่น เพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบของรัฐบาลต่อประชาชน ส่งเสริมให้เอกชนหรือประชาชนนำข้อมูลไปต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ ลดการคอร์รัปชั่น ช่วยในการวัดผลกระทบเชิงนโยบาย ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำหนดนโยบายผ่านข้อมูลภาครัฐ และอีกมากมายเกินกว่าที่เราจะจินตนาการคิดฝันได้
3. การมีส่วนร่วมของประชาชน
เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนในด้านการออกแบบนโยบายและให้บริการสาธารณะ หรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation)
รัฐบาลในหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น รัฐบาลของโอบามาหรือรัฐบาลสหราชอาณาจักรในสมัยเดวิด คาเมรอน เพราะเชื่อว่าในโลกที่ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลที่ฉลาดคือรัฐบาลที่สามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญ ความเห็น และประสบการณ์ของประชาชนและหน่วยงานภายนอกในการออกแบบนโยบาย นอกจากนั้น การดึงการมีส่วนร่วมยังช่วยให้นโยบายของรัฐตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงต่อต้านหลังจากนโยบายออกมา โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก
ระดับการดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ 1) การเปิดเผยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Information) คือการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้สาธารณะเข้าใจและติดตามประเด็นปัญหาต่างๆ ผ่านช่องทางอันหลากหลาย เช่น เว็บไซต์เฉพาะของรัฐบาล โซเชียลมีเดีย 2) การปรึกษาหารืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Consultation) คือการจัดให้มีช่องทางการรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนผ่านช่องทางและวิธีการอันหลากหลาย เช่น เว็บบอร์ด เครื่องมือการโหวต เครื่องมือการส่งคำร้อง และ 3) การตัดสินใจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Decision-Making) คือการนำความคิดเห็นของประชาชนไปใช้ในกระบวนการออกแบบนโยบายจริงๆ เช่น ให้มีการโหวตนโยบายได้โดยตรง
นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมการมีส่วนร่วมแบบใหม่ที่เรียกว่า คราวด์ซอร์ซซิ่งนโยบาย (policy crowdsourcing) ซึ่งหมายถึงการกระจายปัญหา คำถาม หรืองานไปให้ฝูงชนช่วยกันหาคำตอบหรือจัดการ โดยให้ความสำคัญกับการดึงประชาชนมาร่วมออกแบบและสร้างสรรค์นโยบายตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำนโยบายออกมาแล้วค่อยถามความเห็นกับประชาชน
อินเทอร์เน็ตกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม
ในปี 2006 นิตยสาร ไทม์ ได้เลือก “You” (เราทุกคน) ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นบุคคลสำคัญแห่งปี (Person of the Year) ด้วยเหตุผลว่า อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนธรรมดาอย่างพวกเราสามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลก โดยมีการอ้างถึง โอ้มายนิวส์ (OhmyNews) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่มีคำขวัญว่า “พลเมืองทุกคนคือนักข่าว” และเนื้อหาส่วนมากภายในเว็บไซต์ก็ผลิตโดยแม่บ้านชาวเกาหลีกว่าสามแสนชีวิต เว็บไซต์ดังกล่าวสื่อถึงพลังของประชาชนที่กลายเป็นกลไกตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่สำคัญของเกาหลีใต้
ภาพที่ 2 หน้าปกนิตยสาร ไทม์ ฉบับบุคคลสำคัญแห่งปี ประจำปี 2006 และ 2011
พอมาถึงปี 2011 นิตยสาร ไทม์ ก็เลือก “protesters” (ผู้ประท้วง) เป็นบุคคลสำคัญแห่งปี ผู้ประท้วงทั่วโลกได้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง ตั้งแต่อาหรับสปริง ซึ่งเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านกับการกดขี่บีฑาของเผด็จการ ไปจนถึงปฏิบัติการยึดวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านกับการจัดการวิกฤตการเงินที่รัฐบาลเข้าข้างนักการเงิน และขยายกลายเป็นการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก วาเอล โกนิม หนึ่งในผู้ประท้วงคนสำคัญที่ใช้เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือต่อสู้รัฐบาลเผด็จการในอียิปต์ได้กล่าวว่า “นี่คืออาหรับยุคใหม่ … ถ้าเยาวชนที่ใช้เฟสบุ๊คในประเทศนี้รวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชั่นและความอยุติธรรม อียิปต์จะกลายเป็นประเทศที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”
อินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ แต่เดิมนั้น ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ในการสื่อสารอย่างสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งมีลักษณะการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังมวลชน (mass communication) และไม่เปิดให้มีส่วนร่วม จะเป็นผู้กำหนดความหมายในใจของผู้คนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ครอบครองทรัพยากรสื่อสารอันจำกัดอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ สามารถสื่อสารกับมวลชนได้ (mass self-communication) ช่วยให้คนธรรมดาอย่างเราเป็นทั้ง “ผู้รับสาร” และ “ผู้ส่งสาร” ที่สามารถกำหนดวาระและความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 เราต่างประจักษ์ถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคม อาทิ อาหรับสปริงหรือปฏิบัติการยึดวอลล์สตรีท เรียกได้ว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งเสรีภาพที่ช่วยเสริมพลังให้กับการเมืองภาคประชาชน และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการส่งเสียงของตนออกไปในวงกว้าง สร้างพื้นที่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยตนเอง เช่น ผ่านการลงชื่อใน Change.org
โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
คำกล่าวที่ว่า “อินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่มีการคิดค้นเครื่องพิมพ์” คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก
อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้จำนวนมหาศาลในโลกออนไลน์ สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และเผยแพร่เนื้อหาด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ต้องการสร้างสรรค์ แบ่งปัน ร่วมมือ และวิพากษ์วิจารณ์
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอินเทอร์เน็ตสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเรียนรู้ในทุกระดับและทุกมิติ อินเทอร์เน็ตไม่เพียงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้ (ทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล) แต่รวมถึง “วิธีการเรียนรู้” (การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือกับผู้อื่น การเรียนรู้ที่ปรับเข้ากับบุคคลและสัมพันธ์กับชีวิตจริงมากขึ้น) และ “ช่วงเวลาในการเรียนรู้” (การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเองมากขึ้น และการหาความรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต) เราสามารถสรุปการเปลี่ยนแปลงสำคัญได้ดังนี้
- อิสรภาพในการท่องโลกความรู้โดยไม่ติดกับข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์: เราสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีคุณภาพสูงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยชั้นนำมากมายนำเสนอคอร์สออนไลน์ฟรี จนมีการเรียกอินเทอร์เน็ตว่าเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษามีความเท่าเทียมมากขึ้น นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้การศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเครื่องมือ
- วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่: การเรียนรู้แบบเดิมที่มีคนสอนหน้าห้องและให้ผู้เรียนท่องจำความรู้ถูกแทนที่ด้วยการเรียนรู้ผ่านเครือข่าย ซึ่งผู้เรียนต้องแสวงหาความรู้ ร่วมมือกับผู้อื่น และสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่วนครูจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (facilitator) แทน นอกจากนั้นอินเทอร์เน็ตยังเชื่อมต่อการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสถานการณ์จริงได้มากขึ้น
- การเรียนรู้ที่ปรับเข้ากับความต้องการส่วนบุคคล: อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราควบคุมธรรมชาติและรูปแบบของการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเราได้มากขึ้น เช่น หากเราไม่เก่งเลขและต้องการเวลาในการเรียนรู้บทเรียนมากกว่าเพื่อน เราก็สามารถทบทวนบทเรียนด้วยตนเองก่อนที่จะขยับไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น
- ประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่: สื่อการเรียนรู้แบบใหม่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากขึ้น เช่น การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลอง (simulation) การเรียนรู้ผ่านการเล่น (educational game) การเรียนรู้ผ่านภาพ (visualization) เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ประสบการณ์ในการเข้าถึงเนื้อหาเปลี่ยนไป เช่น การศึกษาปรากฏการณ์แผ่นดินไหวผ่านสถานการณ์จำลองหรือเกม
บทสรุป
อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีไหนทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าโอกาสเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพียงเพราะเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีปฏิบัติทั้งในระดับสถาบันและระดับปัจเจกเพื่อแปลงศักยภาพของอินเทอร์เน็ตให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตยังอาจถูกใช้ในทางที่นำพาความเสี่ยงใหม่ๆ มาให้สังคม เช่น การคุกคามทางเพศ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การละเมิดความเป็นส่วนตัว การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข่าวลวง ประทุษวาจา หรือภาพโป๊เด็ก และอีกสารพัดปัญหาที่อินเทอร์เน็ตกำลังท้าทายสังคม
เทคโนโลยีไม่ได้มีความเป็นกลางและมีอำนาจกำหนดความเป็นไปของสังคม สิ่งที่กำหนดว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตจะดีหรือไม่ดี จะกลายเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง ล้วนเป็นเรื่องของพลเมืองอย่างเราทุกคนที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เราปรารถนา
ถัดไปเราจะมาพูดถึงความท้าทายในโลกดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เราอยากเห็น
อ้างอิง
1 Manuel Castells, “The Impact of the Internet on Society: A global perspective,” in Change: 19 key essays on how internet is changing our lives (Spain: BBVA, 2013), 127-147.
2 OCED, “Economic and Social Benefits of Internet Openness,” the background report for Panel 1.1 “Economic and Social Benefits of Internet Openness” of the OECD Ministerial Meeting on the Digital Economy, June 21-23, 2016, Cancún (Mexico).
3 ที่มาภาพประกอบ Deloitte, “Values of Connectivity: Economic and social benefits of expanding internet access,” February, 2014, London, UK: Deloitte.
4 James Manyika and Charles Roxburgh, “The Great Transformer: The Impact of the Internet on Economic Growth and Prosperity,” Report McKinsey Global Institute, October 2011.
5 สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ), รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 (กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, 2560).
6 Samuel Edward, “9 Tips to Make Your Ecommerce Business Wildly Successful,” Entrepreneur, May 15, 2015.
7 ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต, “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery: ซีฟู้ดสดๆ ส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ,” a day online, มีนาคม 7, 2559. และ Oops Hardcore, “สัมภาษณ์พิเศษ ‘คุณโอ๋ เจคิว ปูม้านึ่ง’ ขายปูออนไลน์ร้อนล้าน,” MarketingOops!, ธันวาคม 13, 2559.
8 Manyika and Roxburgh, “The Great Transformer.”
9 เว็บไซต์ อี–เอสโตเนีย.
10 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), ถอดบทเรียน SMART PHUKET: เส้นทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (กรุงเทพฯ: เนคเทค, 2560).
11 เข้าถึงได้ที่ Open Knowledge Foundation, Open Data Handbook (ฉบับภาษาไทย), แปลโดย ฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (กรุงเทพฯ: สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, 2558).
12 Tanja Aitamurto and Helene E. Landemore, “Five Design Principles for Crowdsourced Policymaking: Assessing the case of crowdsourced off-road traffic law in Finland,” Journal of Social Media for Organizations 2, 1 (2015): 1-19.
13 เว็บไซต์ Challenge.gov.
14 เว็บไซต์ Change.org.
15 อ้างอิงจาก Dhawal Shah, “By The Numbers: MOOCS in 2016,” Class Central, December 25, 2016.
16 อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์, “จุดจบของมหาวิทยาลัย? MOOC กับความท้าทายใหม่ในโลกการศึกษา.” the101world, มีนาคม 21, 2560.