ความปลอดภัยแห่งศตวรรษที่ 21

best custom writingcustom writingessay writer onlinebuy essayessay writerคุณเคยเจอโฆษณาที่เด้งขึ้นมาบอกว่า “โชคดีเป็นของคุณแล้ว แค่คลิก เงินหนึ่งล้านบาทก็จะเป็นของคุณ” ระหว่างท่องเว็บหรือเปล่า แล้วเคยได้รับอีเมลจาก “เจ้าชายไนจีเรีย” ที่ขอให้คุณโอนเงินไปให้ แล้วจะตบรางวัลอย่างงามให้ภายหลังหรือไม่ หรือเคยเผลอใส่พาสเวิร์ดบัญชีธนาคารออนไลน์ในหน้าเว็บไซต์ที่ออกแบบเหมือนกับเว็บไซต์ของธนาคารจริงราวกับแกะหรือเปล่า ทั้งหมดนี้คือกลลวงในโลกออนไลน์ที่เราพบเจออยู่บ่อยครั้ง 

เวลาพูดถึง “ความปลอดภัย” รัฐบาลมักจะใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงความมั่นคงของประเทศ เช่น การป้องกันประเทศจากภัยก่อการร้าย ส่วนบริษัทจะใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงการคุ้มครองทรัพย์สินของบริษัทจากอาชญากรหรือบริษัทคู่แข่ง แต่สำหรับพลเมืองดิจิทัลแล้ว ความปลอดภัยหมายถึงชุดความรู้ในการปกป้องตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกขโมยทรัพย์สิน ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงอัตลักษณ์ โดยความปลอดภัยออนไลน์นั้นแยกไม่ออกจากความเป็นส่วนตัว และต้องพิจารณาควบคู่กันเสมอ เพราะชีวิตเราคงไม่ปลอดภัยนักหากมีคนมาเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราและเผยแพร่ออกไป 

โลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างจากโลกจริงที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง อาทิเช่น การสอดแนมความเป็นส่วนตัว อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ เนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศและประทุษวาจา พลเมืองดิจิทัลต้องตระหนักและเรียนรู้วิธีรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆ ไม่ปล่อยให้ใครมาสอดแนมหรือสะกดรอยตามเรา หรือไม่ปล่อยให้ใครมาขโมยของสำคัญของเราได้ ซึ่งของสำคัญที่อาชญากรออนไลน์ส่วนมากต้องการจากเราก็คือ ข้อมูลส่วนบุคคลและรหัสผ่านเข้าสู่บัญชีออนไลน์ เช่น บัญชีเฟสบุ๊ค หรือธนาคารออนไลน์ 

ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์นับเป็นประเด็นสำคัญที่พลเมืองดิจิทัลต้องเรียนรู้ไว้ไม่ต่างจากการสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกจริง ในบทนี้เราจะมาทำความรู้จักความเสี่ยงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และเรียนรู้วิธีการเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว 

 

ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล

 

บ่อยครั้งเราปล่อยให้เรื่องที่ดูเล็กๆ มารุกรานความปลอดภัยของเรา เช่น การแปะรหัสผ่านไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การไม่ตั้งรหัสล็อกโทรศัพท์มือถือ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตที่ห้องสมุดแล้วลืมออกจากระบบ และเราก็อาจจะเจอการหลอกลวงด้วยเทคนิคขั้นสูง เช่น การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาชื่อบัญชีและรหัสผ่านของธนาคารออนไลน์ หรือการปล่อยมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของเรา 

หัวข้อต่างๆ ที่นำเสนอในส่วนนี้จะช่วยให้เราใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลมากขึ้น

 

การตั้งรหัสผ่านและวิธีจัดการ

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีคนแอบขโมยรหัสผ่านของเราไป เขาอาจเข้าไปสอดส่องข้อมูลและลบทุกอย่างทิ้งหมด อาจเข้าไปทำธุรกรรมออนไลน์จนเราสูญเงินมากมาย อาจปลอมตัวเป็นคุณและส่งอีเมลที่ไม่พึงประสงค์ไปให้กับเพื่อนของเรา หรืออาจเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีต่างๆ จนเราเข้าถึงบริการไม่ได้

วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตคือ ให้ตั้งรหัสผ่านที่รัดกุมและคาดเดาได้ยาก ทุกวันนี้ แฮ็กเกอร์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มสร้างรหัสผ่านได้นับล้านครั้งภายในหนึ่งวินาที และเดาคำจากพจนานุกรมทั้งเล่มได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง การเรียนรู้เทคนิคตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาจึงถือเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในการสร้างความปลอดภัยออนไลน์

เทคนิคการตั้งรหัสผ่านง่ายๆ มีดังนี้1  

  • รหัสควรมีความยาวอย่างน้อย 8 อักขระขึ้นไป 
  • สร้างรหัสที่ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์ผสมกัน 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวที่คาดเดาได้ง่ายและไม่เป็นความลับ เช่น วันเกิด บ้านเลขที่ เลขผู้เสียภาษี ทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อเล่น ชื่อสัตว์เลี้ยง ชื่อโรงเรียน ชื่อทีมกีฬาทีมโปรด
  • หลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่เป็นคำสามัญทั่วไป (คำที่ปรากฏในพจนานุกรม) เช่น CAT, DOG, LOVE 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงกันตามลำดับ เช่น ABCD 1234 หรือการเรียงรหัสตามตำแหน่งคีย์บอร์ด เช่น QWERT 
  • เทคนิคการตั้งรหัสผ่าน: สร้าง “วลีรหัสผ่าน” ด้วยประโยคที่เราคุ้นเคย เช่น I met Som in Chiang Mai in 2008. แล้วนำอักษรตัวแรกของแต่ละคำมาสร้างรหัสผ่านและเปลี่ยนบางคำให้เป็นสัญลักษณ์ (ImS@CM#2008) เทคนิคนี้ช่วยสร้างรหัสผ่านที่รัดกุม หลากหลาย และจำได้ง่าย

นอกจากเทคนิคการสร้างรหัสแล้ว เราควรคำนึงถึงแนวทางจัดการกับรหัสผ่านดังนี้ 

  • ไม่แชร์รหัสกับใครทั้งนั้น (ยกเว้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองในกรณีที่เป็นผู้เยาว์) 
  • หากจำเป็นต้องจดรหัสผ่านกันลืมจริงๆ ให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ไม่วางไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย เช่น ข้างจอคอมพิวเตอร์หรือบนโต๊ะ
  • ตั้งรหัสให้แตกต่างกันในบัญชีสำคัญแต่ละบัญชี เช่น บัญชีเฟสบุ๊ค อีเมล ธนาคารออนไลน์ เพราะการใช้รหัสเหมือนกันหมดในทุกบัญชีหมายความว่า ถ้ามีคนรู้รหัสผ่านของบริการออนไลน์หนึ่งๆ ก็จะสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์อื่นๆ ที่สำคัญได้โดยปริยาย 
  • เลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือและให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะบริการสำคัญ เช่น บริการด้านการเงินที่อนุญาตให้ตั้งรหัสยาวพอและรองรับการเข้ารหัส HTTPS
  • ตั้งค่าแจ้งเตือนหากมีใครล็อกอินเข้าบัญชีของเราจากเครื่องที่ไม่รู้จัก 
  • เปลี่ยนรหัสทุกครั้งเมื่อสงสัยว่ามีกิจกรรมไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น มีการเข้าสู่บัญชีของเราจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เราไม่คุ้นเคย 
  • ตั้งค่าการกู้คืนรหัสผ่าน บริการส่วนมากจะให้เราใส่เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลสำหรับส่งรหัสผ่านไปให้ใหม่หรือเพื่อรีเซ็ตรหัสผ่านใหม่ เมื่อต้องการกู้คืนหรือเปลี่ยนรหัสผ่าน
  • เปิดใช้ระบบการพิสูจน์ตัวตนที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น การพิสูจน์ตัวตนสองระดับ (two-factor authentication) คือระบบที่ต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านข้อมูลสองประเภทก่อนจึงจะล็อกอินเข้าระบบได้ เช่น รหัสผ่านและลายนิ้วมือ หรือที่เป็นที่นิยมกันมากคือการพิสูจน์ตัวตนด้วยรหัสผ่านและโทรศัพท์มือถือ ที่นอกจากต้องใส่รหัสผ่านแล้ว ระบบจะส่งรหัสเฉพาะที่หมดอายุภายในไม่กี่นาทีไปที่โทรศัพท์มือถือ (เรียกว่า OTP) เพื่อใช้ยืนยันตัวตนอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นแม้ผู้ไม่หวังดีจะแอบรู้รหัสผ่านของเรา ก็ไม่สามารถเข้าสู่บัญชีได้ เนื่องจากต้องใช้ทั้งสิ่งที่เรารู้ (รหัสผ่าน) และสิ่งที่เรามี (โทรศัพท์มือถือ) ในการยืนยันตัวตน

 

การใช้อินเทอร์เน็ตในที่สาธารณะ

การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับผู้อื่นนั้นมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก ข้อมูลการล็อกอินและข้อมูลส่วนตัวของเราอาจหลงเหลืออยู่ในเครื่องและถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น ถ้าเราเปิดบัญชีอีเมลทิ้งไว้ คนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และต่อให้เราระวังโดยออกจากระบบและล้างข้อมูลหมดแล้ว ก็อาจมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถดักจับข้อมูลของเราได้ 

เพื่อเป็นการป้องกันข้อมูลสำคัญเมื่อจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ เช่น คอมพิวเตอร์ในห้องสมุด แล็บท็อปของที่ทำงาน หรือโทรศัพท์มือถือของเพื่อน เราควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการล็อกอินเข้าบริการที่สำคัญ เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย และธนาคารออนไลน์ 
  • เลือกใช้โหมดส่วนตัวในบราวเซอร์ เช่น โหมด Incognito ในกูเกิลโครม (เลือกคำสั่ง “หน้าต่างใหม่และไม่ระบุตัวตน” หรือกด Ctrl + Shift + N) หรือ Private Browsing ในไฟร์ฟ็อกซ์ (เลือกคำสั่ง “หน้าต่างส่วนตัวใหม่” หรือกด Ctrl + Shift + P) และปิดบราวเซอร์ทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ
  • ออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งานและไม่ตั้งค่าให้เครื่องจำรหัสผ่านหรือสถานะของผู้ใช้ 
  • ไม่บันทึกไฟล์ข้อมูลสำคัญลงในเครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ 
  • ตรวจสอบตัวดักข้อมูล (keylogger หรือ keystroke logger เป็นได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งจะบันทึกการกดแป้นพิมพ์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญของเรา เช่น รหัสผ่านธนาคารออนไลน์) แบบฮาร์ดแวร์ โดยดูว่ามีสายไฟแปลกๆ ที่เชื่อมคีย์บอร์ดกับช่องเสียบด้านหลังคอมพิวเตอร์อยู่หรือไม่ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ไม่แน่ใจเสียบอยู่ ให้สงสัยว่าเป็นตัวดักข้อมูล และหลีกเลี่ยงการใช้งานที่สุ่มเสี่ยง

 

การเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ

นอกจากพึงระวังเรื่องความปลอดภัยเวลาใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ของตนแล้ว เวลาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สายสาธารณะ เช่น ใช้ไว-ไฟตามร้านกาแฟ เราก็ต้องระวังไม่แพ้กัน เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่จะเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่เราดาวน์โหลดหรือส่งออกไปยังเครื่องอื่นๆ ทางอากาศ ดังนั้นหากผู้ใช้ไม่ได้เข้ารหัสข้อมูลไว้ดีพอ กระทั่งแฮ็กเกอร์มือสมัครเล่นก็สามารถดักจับข้อมูลได้ไม่ยาก

การเข้ารหัสจะช่วยให้ข้อมูลที่ถูกส่งไปเป็นความลับแม้จะถูกดักจับระหว่างทาง เพราะถึงดักจับได้ก็อ่านไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเมื่อใช้ไว-ไฟสาธารณะคือ 

  • พยายามหลีกเลี่ยงการล็อกอินเข้าใช้บริการสำคัญๆ เช่น การลงชื่อเข้าใช้บัญชีอีเมล สั่งซื้อของ หรือโอนเงินผ่านระบบธนาคารออนไลน์ เนื่องจากอาจมีคนดักจับรหัสผ่านหรือข้อมูลการเงิน
  • ดูว่าเว็บไซต์ที่เราจะเข้ารองรับการเข้ารหัสหรือไม่ โดยให้สังเกตที่ยูอาร์แอล (URL หรือ Uniform Resource Locator คือที่อยู่ซึ่งใช้ระบุแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น https://pantip.com/ สำหรับการเข้าถึงเว็บไซต์พันทิป) ว่ามีคำว่า HTTPS (S ตัวท้ายย่อมาจาก Secure หมายถึงเวอร์ชั่นที่ปลอดภัยมากขึ้นของ HTTP) ซึ่งเป็นการเข้ารหัสจากเครื่องของเราไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง

 

 

การป้องกันการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

ทุกวันนี้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และเราสามารถทำกิจกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์มือถือได้เกือบหมด สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ เมื่อการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่เท่ากับการเข้าถึงบัญชีของบริการออนไลน์บนมือถือที่เราเลือกใช้โดยอัตโนมัติ เช่น บัญชีเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ การปกป้องการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่จึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกแห่งการเชื่อมต่อไร้สาย 

เราสามารถเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ดังนี้2

  • การตั้งค่าล็อกอุปกรณ์เคลื่อนที่: อุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะมีระบบล็อกพิน (pin) และระบบล็อกรหัสผ่าน (password) ในรูปแบบต่างๆ ข้อควรระวังคือ
    • พิน: ไม่ควรใช้เลขเรียงกัน หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่คนคาดเดาได้ง่าย เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด บ้านเลขที่ 
    • รูปแบบการลากเส้น: อย่าเลือกรูปแบบที่เดาง่าย เช่น รูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รวมถึงควรซ่อนรูปแบบขณะลากเส้นเพื่อป้องกันผู้อื่นเห็น 
    • การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น: เราควรระมัดระวังการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและไฟล์ในมือถือ เพราะอาจเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์และข้อมูลส่วนตัว เช่น แอปพลิเคชั่นบางตัวพยายามเข้าถึงบัญชีส่วนตัวของเรา ดังนั้นเราควรดาวน์โหลดเฉพาะแอปพลิเคชั่นจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น จาก Play Store หรือ App Store  รวมถึงควรอ่านความคิดเห็นด้านความปลอดภัยของคนที่เคยดาวน์โหลดไปก่อนหน้า 
    • การอัปเดตระบบในอุปกรณ์เคลื่อนที่: อุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีระบบแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดอุปกรณ์เวอร์ชั่นล่าสุด เราควรอัปเดตอุปกรณ์เสมอ เพราะเวอร์ชั่นล่าสุดมักแก้ไขช่องโหว่เรื่องความปลอดภัยในระบบเก่า

 

ระวังสารพัดกลโกงออนไลน์

โลกไซเบอร์มีสิ่งดีๆ มากมาย แต่ก็มีสารพัดกลโกงออนไลน์เช่นกัน สิ่งที่เราพบเห็นในโลกออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือน่าเชื่อถือทั้งหมด กระทั่งอาจมุ่งร้ายเพื่อหลอกลวงและขโมยข้อมูลสำคัญของเรา ดังนั้นพลเมืองดิจิทัลต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรคือข้อความที่หลอกลวง เท่าทันเทคนิคที่ใช้ในการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากสารพัดกลลวง

อันที่จริงกลโกงในโลกออนไลน์ส่วนมากไม่ได้ใช้เทคนิคซับซ้อนเหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์ล้ำยุค แต่เล่นกับความรู้สึกของเราเป็นหลัก กลวิธีหลักๆ ที่พบเห็นได้บ่อยมีดังนี้  

  • สร้างสถานการณ์เร่งด่วนหรือเอาผลประโยชน์มาล่อเพื่อให้เราโอนเงินหรือบอกข้อมูลส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น อีเมลแจ้งว่าเราถูกล็อตเตอรี่ออนไลน์ ได้รางวัลหลายสิบล้าน แต่ต้องโอนเงินบางส่วนไปเป็นค่าดำเนินการ หรืออาจจะแนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น แอบอ้างว่ามาจากธนาคารโดยตั้งชื่ออีเมลคล้ายกับอีเมลของธนาคารจริง จากนั้นก็ขอให้ส่งรหัสผ่านกลับไป หรือในบางกรณีที่คนรู้จักของเราถูกแฮ็กบัญชีอีเมล เราอาจได้รับอีเมลแจ้งว่าตอนนี้เขาอยู่ต่างประเทศ และทำกระเป๋าหาย ขอให้ช่วยโอนเงินไปด่วน 
  • การสร้างเว็บไซต์ที่ล่อลวงให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์จริง และหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรหัสผ่านหรือหมายเลขบัตรเครดิต 
  • การสร้างป๊อปอัปมาแจ้งว่าเราติดมัลแวร์และให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ต้านไวรัส ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่พึงประสงค์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

 

หากเจอกับกลลวงออนไลน์ทั้งหลาย เราควรทำตามแนวทางดังนี้

  • ลองพินิจพิจารณาให้ดีว่า ข้อเสนอหรือรางวัลที่ได้รับทางอีเมลหรือเว็บไซต์ “ดีเกินจริง” หรือเปล่า เช่น อยู่ดีๆ ใครจะให้เงินเราเป็นสิบล้าน หรือเสนอไอโฟนรุ่นใหม่ให้เราฟรีๆ
  • อย่าโอนเงินหรือให้รายละเอียดบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร หรือเอกสารส่วนบุคคลกับใครก็ตามที่เราไม่รู้จักก่อนตรวจสอบให้แน่ใจ
  • ตรวจสอบที่มาของอีเมล เช่น เข้าเว็บไซต์ทางการเพื่อติดต่อสอบถาม หรือลองเอาเนื้อหาอีเมลไปใส่ในเครื่องมือค้นหา ส่วนมากการหลอกลวงเหล่านี้จะมีคนเคยรายงานเอาไว้ 
  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ด้วยการเช็คว่าสะกดยูอาร์แอลถูกต้องและมีอะไรผิดสังเกตหรือเปล่า เช่น เปลี่ยนตัวอักษร O เป็นเลข 0 รวมถึงตรวจสอบว่าเว็บไซต์ใช้การเข้ารหัสแบบ HTTPS หรือมีอะไรรับรองความน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น มีตราสัญลักษณ์รับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ 
  • อัปเดตบราวเซอร์ให้อยู่ในเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ เพราะบราวเซอร์รุ่นใหม่จะมีการปรับปรุงระบบป้องกันให้ดีขึ้น 
  • หากพบว่าเป็นอีเมลหลอกลวง ให้ลบอีเมลนั้นทิ้ง ห้ามส่งต่ออีเมลหรือแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย และหาทางรายงานการต้มตุ๋มผ่านช่องทางที่เหมาะสม เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกเข้าให้แล้ว เราควรเปลี่ยนรหัสบัญชีออนไลน์ทันที แจ้งให้เพื่อนที่อาจตกเป็นกลุ่มเป้าหมายระวังตัว และแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน

 

การติดต่อโดยคนแปลกหน้า

การติดต่อโดยคนแปลกหน้าดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในสื่อสังคมเครือข่าย แต่ตอนจบอาจลงเอยด้วยอันตรายที่เกิดขึ้นจริงกับตัว เช่น การคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกาย แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เรามีแนวทางในการยืนยันอัตลักษณ์ของคนที่มาติดต่อเราและค้นหานักต้มตุ๋นออนไลน์ดังนี้5 

  • รูปโปรไฟล์ดูน่าสงสัยหรือไม่: เราควรสงสัยคนที่ใช้รูปโปรไฟล์เบลอหรือเห็นไม่ชัดไว้ก่อน หรือคนที่แอบเอารูปของคนอื่นที่มีตัวตนจริงๆ มาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ 
  • ชื่อที่แสดงตรงกับบัญชีผู้ใช้หรือเปล่า: เราตรวจสอบได้ว่าชื่อที่ใช้แสดงตรงกับชื่อที่ปรากฏในยูอาร์แอลหรือไม่ 
  • มีรายละเอียดประวัติส่วนบุคคลหรือไม่: บัญชีปลอมโดยมากมักจะไม่ค่อยใส่รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเท่าไหร่ แต่ถ้ามีรายละเอียด ก็ควรตรวจสอบว่ารายละเอียดเหล่านั้นดูเป็นจริงขนาดไหน 
  • มีการเปิดใช้บัญชีมานานแค่ไหน: บัญชีปลอมมักจะไม่ค่อยมีการโพสต์และปฏิสัมพันธ์มากนัก

 

การกลั่นแกล้งออนไลน์ 

การกลั่นแกล้งออนไลน์ (cyberbullying) คือการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่น เช่น การส่งข้อความ การโพสต์ลงสื่อเครือข่ายสังคม อินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่ขยับขยายการกลั่นแกล้งแบบเดิมๆ ให้เกิดขึ้นได้ในโลกออนไลน์แบบไม่จำกัดพื้นที่และเวลา แต่ยังทำให้เกิดรูปแบบการกลั่นแกล้งใหม่ๆ เช่น การล้อเลียนผ่านสื่อโซเชียล นอกจากนั้น ผลกระทบจากการกลั่นแกล้งออนไลน์ยังกว้างไกลและคงอยู่นานกว่าเดิม เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถแชร์และสืบค้นเนื้อหาได้ง่ายขึ้น รวมถึงเนื้อหาในโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป 

โลกอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้เราโพสต์ แชร์ หรือโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย บางทีอาจทำให้เราไม่ทันได้คิดถึงผลกระทบของสิ่งที่เราพูดหรือทำลงไป เราควรไตร่ตรองให้รอบคอบถึงผลกระทบจากการกระทำใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่นและตนเอง นอกจากนั้น แม้เราจะไม่ได้เป็นต้นตอของเนื้อหาที่เข้าข่ายการกลั่นแกล้งออนไลน์ แต่การส่งเสริมเนื้อหาดังกล่าว เช่น การพิมพ์คอมเมนต์ การแชร์ การหัวเราะเยาะ หรือการซุบซิบนินทา ก็ถือเป็นการทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน

ตัวอย่างของการกลั่นแกล้งออนไลน์รวมถึง6

  • การโพสต์วิดีโอที่น่าอับอายของคนอื่นในบริการฝากวิดีโอ เช่น ยูทูบหรือเฟสบุ๊ค
  •  การส่งข้อความหรืออีเมลที่มีเนื้อหาคุกคามหรือน่ารังเกียจให้กับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
  •  การโพสต์เนื้อหาที่คุกคามหรือมุ่งทำให้ผู้อื่นอับอายในโซเชียลมีเดีย
  • การสร้างบัญชีในโซเชียลมีเดียสำหรับล้อเลียนคนอื่นเป็นการเฉพาะ 
  • การถ่ายวิดีโอการทำร้ายร่างกายผู้อื่นผ่านมือถือ แล้วนำไปแชร์ต่อให้คนได้เห็นซ้ำๆ
  • การโพสต์หรือส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (โดยเฉพาะภาพที่มีเนื้อหาทางเพศของคนอื่น ดังที่เรียกว่า sexting) 
  •  การส่งมัลแวร์ไปทำลายคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น[จบbullet

 

หากต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งออนไลน์ แนวทางในการรับมือมีดังนี้ 

  • ไม่ตอบโต้หรือคิดแก้แค้น เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ผู้กลั่นแกล้งได้ใจ แต่ยังทำให้เราไม่ต่างจากผู้ที่กลั่นแกล้งเรา 
  • ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ บริการในอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น อนุญาตให้เราบล็อกคนที่ไม่ต้องการติดต่อได้ ถ้าไม่อยากเห็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่ทำให้คุณรู้สึกแย่ [วิธีการบล็อก: สำหรับอีเมลของกูเกิล เปิดอีเมลของคนที่คุณต้องการบล็อก > เลือกลูกศรชี้ลงเพื่อเปิดเมนู > เลือก บล็อก “ชื่ออีเมล”  สำหรับเฟสบุ๊ค คลิกที่ลูกศรชี้ลงด้านขวาบนเพื่อเปิดเมนู > เลือกการตั้งค่า > เลือกเมนู การบล็อก (blocking) ทางแถบด้านซ้ายมือ > ใส่รายชื่อของคนที่คุณต้องการบล็อกเข้าไป]
  • ขอความช่วยเหลือ ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจหรือสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนที่คุณไว้ใจ การมีใครสักคนที่คอยรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน จะช่วยบรรเทาความรู้สึกจากการถูกกลั่นแกล้งได้ แต่ถ้าสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น คุณควรปรึกษามืออาชีพ หรือหากการกลั่นแกล้งรุนแรงไปถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือการคุกคามทางเพศ ให้แจ้งตำรวจ 
  • เก็บหลักฐานไว้ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์นั้นช่วยให้เราเก็บรวบรวมหลักฐานการกลั่นแกล้งไว้ได้ง่าย เช่น การเซฟหน้าจอ เพื่อใช้ในการสืบค้นตัวตนของผู้ที่รังแก (กรณีที่ทำโดยไม่เปิดเผย) หรือเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี 
  • อย่าอยู่เฉยถ้าเห็นผู้อื่นโดนกลั่นแกล้ง ควรให้กำลังใจผู้ที่ถูกรังแกและรายงานเรื่องที่พบเห็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง 
  • รายงานการกลั่นแกล้งออนไลน์ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) หรือผู้ให้บริการมือถือ 
  • เข้าใจว่าต้นเหตุของการกลั่นแกล้งออนไลน์เกิดจากรากของปัญหาสังคม เช่น ความยากจน ครอบครัวแตกสลาย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ระยะยาวจึงอยู่ที่การแก้ไขที่รากของปัญหาจริงๆ

 

ความเป็นส่วนตัว

 

คุณไม่มีความเป็นส่วนตัวเหลือแล้วล่ะ ทำใจเถอะ 
– สก็อต แมคนีลลี7

 

ความเป็นส่วนตัว (privacy) หมายถึงความสามารถในการกำหนดให้ข้อมูลของเราแสดงต่อกลุ่มคนที่ต้องการให้เห็นหรือเข้าถึงได้ และไม่แสดงต่อกลุ่มคนที่เราไม่ต้องการให้เห็นหรือเข้าถึง อินเทอร์เน็ตทำให้ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการประมวลผล ความจุของหน่วยเก็บข้อมูล และแบนด์วิดธ์ที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเพิ่มประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตในการดักจับและเก็บร่องรอยกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิผล 

ความเป็นส่วนตัวมีหน้าตาเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลด้วยเหตุผลหลักดังนี้

  • ข้อมูลมีความคงทนถาวรและการเก็บรักษามีราคาถูก: การเก็บข้อมูลในโลกจริงมีต้นทุนที่สูงและไม่ได้มีความคงทนถาวรนัก ตัวอย่างเช่น หากคุณอยากเก็บบันทึกภาพถ่ายทริปครอบครัวเมื่อปลายปี คุณต้องเสียเงินอัดภาพ หาอัลบั้มมาใส่ และสุดท้ายอัลบั้มภาพก็จะเก่าหรือหาไม่เจอ แต่ในโลกดิจิทัล คุณสามารถสร้างอัลบั้มขึ้นมาได้โดยแทบไม่มีต้นทุนและข้อมูลจะคงอยู่ตลอดไป 
  • การเข้าถึงและค้นหาได้ง่าย: เทคโนโลยีจะช่วยให้เราค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ขณะที่การค้นหาในโลกออฟไลน์ต้องใช้แรงงานมาก ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการค้นหาข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณต้องเดินทางไปห้องสมุดและค้นหาจากหนังสือพิมพ์เป็นพันเป็นหมื่นฉบับ แต่ถ้าข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปดิจิทัล การค้นหาและเข้าถึงก็จะทำได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส 
  • การแพร่กระจายและการปรากฏเห็น: เนื้อหาออนไลน์นั้นแชร์ออกไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาให้ “แพร่กระจาย” เนื้อหาได้สะดวกขึ้น เช่น แชร์ลิงก์หรือภาพได้ง่ายขึ้น ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่คนจะเห็นเนื้อหาออนไลน์มากขึ้น[จบbullet#]

อินเทอร์เน็ต (โดยเฉพาะสื่อเครือข่ายสังคม) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะพร่ามัวลง ผู้คนเริ่มเปิดเผยความคิดและชีวิตส่วนตัวให้กับสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ วัฒนธรรมการแชร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ก็ย้ายเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เราทำธุรกรรมทางการเงินและจับจ่ายใช้สอยผ่านอินเทอร์เน็ต และทิ้งร่อยรอยเกี่ยวกับตนเองไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือค้นหาข้อมูลรู้เรื่องตัวเราดีกว่าคนรอบตัวเราเสียอีก (หรือกระทั่งตัวเราด้วยซ้ำ!) เมื่อบวกกับพลังในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เด็กสาวมัธยมจากรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปซื้อของที่ร้านค้าปลีกทาร์เก็ต และร้านค้าก็ทำนายจากพฤติกรรมการจับจ่ายว่าเธอกำลังตั้งครรภ์อยู่ (เช่น เลือกซื้อโลชั่นไร้กลิ่นและอาหารเสริมมากมาย) จึงส่งคูปองส่วนลดราคาอุปกรณ์สำหรับเด็กไปให้ที่บ้าน เมื่อพ่อของเด็กสาวเห็นจึงไปโวยกับทาร์เก็ต ว่าพยายามล่อล่วงให้ลูกสาวของเขาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร สุดท้ายเด็กสาวคนนั้นตั้งครรภ์จริงๆ เรียกได้ว่าทาร์เก็ตรู้ข่าวนี้ก่อนพ่อแม่ของเธอเสียอีก!

เมื่อความเป็นส่วนตัวเปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่ พลเมืองดิจิทัลจึงต้องทำความเข้าใจกับประเด็นนี้ และเรียนรู้วิธีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเรา หลักการทั่วไปมีดังนี้

  • คิดยาวๆ ก่อนโพสต์: ทุกสิ่งที่เราโพสต์ในโลกออนไลน์จะทิ้งร่องรอยดิจิทัลเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจแพร่กระจายไปถึงคนนับหมื่นนับแสนได้ และถูกค้นพบได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นถ้าเราไม่อยากให้คนเห็นสิ่งที่โพสต์ในอนาคต เราก็อย่าโพสต์มันในวันนี้
  • อย่าแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล: เรียนรู้ว่าข้อมูลอะไรที่ควรเก็บเอาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด 
  • กำหนดสิทธิการเข้าดูข้อมูลอย่างจำกัด: เราควรกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลแบบจำกัดไว้ก่อน และระมัดระวังการโพสต์แบบ “สาธารณะ” เพราะใครก็สามารถดูเนื้อหาได้ แถมโพสต์ดังกล่าวใครๆ ก็เข้าถึงได้ผ่านเครื่องมือค้นหา ดังนั้นโพสต์สาธารณะอาจไปถึงบุคคลที่เราไม่ต้องการให้เห็นได้
  • อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวและเรียนรู้วิธีการตั้งค่า: บริการออนไลน์แต่ละแห่งนั้นมีนโยบายและวิธีตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแตกต่างกัน เราควรอ่านนโยบายและเรียนรู้วิธีตั้งค่าให้ละเอียดก่อนใช้งาน
  • คำนึงอยู่เสมอว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะ (public) มากกว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private): กระทั่งข้อมูลที่เป็นส่วนตัวก็สามารถถูกลอกเลียน ทำซ้ำ ปรับเปลี่ยน และส่งต่อไปสู่พื้นที่สาธารณะได้ รวมถึงเครื่องมือค้นหาอันก้าวหน้ายังทำให้ใครก็ตามสามารถสืบค้นข้อมูลดังกล่าวได้
  • เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น: การโพสต์ถึงคนอื่น การแชร์ข้อความของเขา หรือการแท็กชื่อในภาพ อาจกระทบกับความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นได้ ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามผู้อื่นก่อนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร

 

 

การปกป้องตนเองจากเทคโนโลยีสอดแนม

การสอดส่องชีวิตคนอื่นเคยเป็นงานที่ยากเข็ญและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก (ลองนึกถึงเหล่าสายสืบในภาพยนตร์โบราณที่ต้องแฝงตัวเข้าไปขโมยข้อมูลจากแฟ้มเอกสาร) แต่ทุกวันนี้ กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บ ดูวิดีโอ ส่งอีเมล แสดงความเห็น หรือแชร์ภาพของเพื่อน ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกสอดส่อง

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นต้องผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องกว่าจะเดินทางไปถึงปลายทาง และใครก็ตามที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวก็จะมองเห็นข้อมูลของเราได้ เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ดังนั้น หากไอเอสพีไม่รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ก็อาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์เพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจได้

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เรากังวลที่จะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการทำกิจกรรมที่อาจสุ่มเสี่ยง เช่น ถ้าเราอยากออกมาป่าวประกาศถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ถ้าเราเป็นเกย์อยู่ในประเทศที่ลงโทษเพศสภาพทางเลือก หรือถ้าเราเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ล่ะ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย คำตอบคือการเข้ารหัสข้อมูล  

การเข้ารหัสคือการทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถอ่านได้แม้จะเข้าถึงได้ ยกเว้นคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้รับปลายทาง ทุกวันนี้เว็บไซต์หลายแห่งรองรับการเข้ารหัส โดยเฉพาะบริการที่ต้องการความปลอดภัยสูงอย่างธนาคารออนไลน์ แต่บริการส่วนมากยังไม่รองรับการเข้ารหัส หรืออาจรองรับแต่ไม่ได้ตั้งเป็นค่าพื้นฐาน ถึงกระนั้นเราก็สามารถเลือกใช้บริการเสริมที่ช่วยเข้ารหัสข้อมูลของเราได้ วิธีการง่ายๆ มีดังนี้

  • เข้าสู่เว็บที่รองรับการเข้ารหัสแบบ HTTPS ซึ่งจะช่วยปกปิดไม่ให้ไอเอสพีเข้าถึงข้อมูล ทว่าไอเอสพีก็ยังคงรู้ว่าเรากำลังเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องไหนอยู่ดี 
  • ใช้บริการเข้ารหัสข้อมูลแบบ VPN และ Tor

 

 

ความเป็นส่วนตัวกับโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อให้เราแชร์ตัวตนของเราลงในโลกออนไลน์และได้ทลายเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะ ทุกวันนี้เราเปิดเผยข้อมูลตัวเราลงในโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เราจะจดจำได้ เช่นเฟสบุ๊คที่คอยเตือนว่าในวันนี้เมื่อปีที่แล้วเรากำลังทำอะไรอยู่ ทั้งที่เราเองก็ลืมไปแล้ว บ่อยครั้งเราอาจต้องการแบ่งปันเรื่องราวบางอย่างกับเพื่อนฝูงในวงจำกัด แต่คนไม่รู้จักหรือเพื่อนของเพื่อนกลับเข้าถึงเรื่องราวที่อาจมีความเป็นส่วนตัวสูงนี้ได้ด้วย  

ผู้ให้บริการส่วนมากจะอนุญาตให้เปลี่ยนค่าความเป็นส่วนตัวได้ ดังนั้นเราควรอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวและปรับการตั้งค่าเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด รวมถึงหมั่นตรวจเช็คนโยบายความเป็นส่วนตัวของบริการที่ใช้ เนื่องจากโซเชียลมีเดียมักมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและรูปแบบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวตลอดเวลา ซึ่งทำให้คำแนะนำเรื่องวิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน 

ในที่นี้เราจะมาลองดูวิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบริการยอดฮิตอย่างเฟสบุ๊คและกูเกิล เพื่อให้เห็นแนวทางที่อาจนำไปประยุกต์ใช้กับบริการอื่นๆ ได้

 

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในเฟสบุ๊ค 

เฟสบุ๊คกลายเป็นสื่อเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเราก็มีแนวโน้มที่จะแชร์เรื่องราว ความเห็น รวมถึงข้อมูลส่วนตัวมากมายในนั้น โมเดลในการหารายได้ของเฟสบุ๊คคือ การติดตามกิจกรรมออนไลน์ของเราทั้งในและนอกเฟสบุ๊คเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้เลือกโฆษณาตามความสนใจของเรา 

แม้วิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างความเป็นส่วนตัวจากเฟสบุ๊คคือ เลิกใช้มันซะ! แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะเฟสบุ๊คมีประโยชน์มากมาย เช่น ใช้แชร์ห้วงเวลาดีๆ กับครอบครัว ใช้พูดคุยกับเพื่อนที่ไปเรียนต่อหรือทำงานอีกซีกโลก ใช้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะเรียกว่าเฟสบุ๊คกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วก็ได้  

แล้วเราจะใช้เฟสบุ๊คโดยที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ให้ได้มากที่สุดอย่างไร? การเรียนรู้วิธีตั้งค่าง่ายๆ จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนได้ดังนี้10 

  • การกำหนดว่าใครเห็นโพสต์เราได้บ้าง 

การจำกัดวงคนที่มีสิทธิเห็นโพสต์ของเราในเฟสบุ๊คนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว 

เริ่มจากให้มองหาไอคอนลูกศรด้านขวาบน แล้วเลือกที่ “การตั้งค่า” จากนั้นตรงแถบด้านซ้ายมือ ให้เลือก “ความเป็นส่วนตัว”

              

ภายใต้หัวข้อ “ใครบ้างที่สามารถเห็นโพสต์ในคราวต่อๆ ไปของคุณได้” ให้กดที่ “แก้ไข” แล้วคุณจะเลือกได้ว่าอยากให้ใครเห็นโพสต์ของคุณบ้าง โดย “สาธารณะ” คือใครก็เห็นได้ “เพื่อน” คือเฉพาะคนที่เป็นเพื่อนในเฟสบุ๊คเท่านั้น “เพื่อนทุกคนยกเว้น” คือเพื่อนบนเฟสบุ๊ค ยกเว้นคนที่คุณกรอกชื่อลงไป “เพื่อนที่เจาะจง” คือเฉพาะเพื่อนที่ระบุชื่อลงไป “เฉพาะฉัน” คือเฉพาะตัวเรา นอกจากนั้นคุณยังสามารถกำหนดการเห็นโพสต์ตามพื้นที่และกลุ่มต่างๆ ได้ด้วย

 

 

สิ่งที่เราควรรู้คือ การตั้งค่าใน “ใครบ้างที่สามารถเห็นโพสต์ในคราวต่อๆ ไปของคุณได้” จะมีผลสำหรับการโพสต์ในอนาคต หากเราไม่อยากให้ใครก็ไม่รู้ไปส่องเรื่องราวที่เราโพสต์ไว้ในอดีต ให้ไปที่หัวข้อ “การจำกัดผู้เข้าชมสำหรับโพสต์ก่อนหน้าบนไทม์ไลน์ของคุณ” และเลือก “จำกัดโพสต์ในอดีต” แค่นี้คนที่ไม่ใช่เพื่อนก็ไม่มีสิทธิเข้าไปดูโพสต์ย้อนหลังของเราได้

 

คุณยังกำหนดคนที่สามารถค้นหาตัวคุณได้ด้วย ภายใต้หัวข้อ “ใครที่สามารถค้นหาคุณโดยใช้ที่อยู่อีเมลที่คุณระบุได้บ้าง” และ “ใครที่สามารถค้นหาคุณโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ที่คุณระบุไว้” อันที่จริง คุณไม่ควรให้ข้อมูลนี้กับเฟสบุ๊คอยู่แล้วหากคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าจะให้ข้อมูลดังกล่าว คุณก็ควรกำหนดวงให้แคบที่สุดเท่าที่เฟสบุ๊คจะอนุญาต  

 

 

แล้วถ้าไม่อยากให้เพื่อนหรือคนรู้จักมาแท็กภาพหรือเรื่องราวของคุณแล้วไปปรากฏบนไทม์ไลน์ของเราโดยอัตโนมัติ ให้ไปที่ “ไทม์ไลน์และการแท็ก” ตรงแถบด้านซ้ายมือ ภายใต้หัวข้อ “ตรวจสอบโพสต์ที่เพื่อนร่วมงานแท็กคุณก่อนที่โพสต์จะปรากฏบนไทม์ไลน์ของคุณหรือไม่” ให้เลือก “เปิดใช้งาน” แค่นี้ภาพหรือเรื่องราวที่ถูกแท็กมาก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเราก่อนที่จะไปปรากฏบนไทม์ไลน์ (แต่โพสต์ที่เพื่อนแท็กเรามาก็ยังไปปรากฏที่อื่นได้อยู่ดี) นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกหัวข้อ “ใครที่สามารถเห็นโพสต์ที่คุณถูกแท็กในไทม์ไลน์ของคุณได้บ้าง” และเลือกจำกัดคนที่เห็นได้ตามต้องการ

 

 

  • ความเป็นส่วนตัวกับโฆษณาบนเฟสบุ๊ค 

เฟสบุ๊ครู้พฤติกรรมออนไลน์ของเราแทบทุกอย่าง บางครั้งเราอาจเบื่อที่จะต้องเห็นโฆษณาซ้ำๆ แม้จะไม่สามารถห้ามเฟสบุ๊คไม่ให้มาติดตามพฤติกรรมออนไลน์ของเราได้ แต่เราสามารถจำกัดการใช้ข้อมูลเหล่านั้นโดยเฟสบุ๊คได้

เริ่มแรกให้เลือกที่ “โฆษณา” ตรงแถบซ้ายมือของหน้าการตั้งค่า จากนั้นให้เลือกหัวข้อ “การตั้งค่าโฆษณา” เราจะสามารถเลือก “ปิด” ตรง “โฆษณาตามการใช้งานเว็บไซต์และแอพของคุณ” ได้ ถ้าคุณไม่ต้องการเห็นโฆษณาที่มาจากการใช้งานบนเว็บไซต์และแอปของเราบนเฟสบุ๊ค (แต่ต้องเข้าใจว่า แม้จะไม่เห็นโฆษณาซ้ำๆ ที่เฟสบุ๊คเลือกจากความสนใจของเรา แต่ก็ยังต้องดูโฆษณาอื่นๆ อยู่ดี) 

 

 

นอกจากนั้น คุณสามารถเลือก “ไม่” ตรงหัวข้อ “โฆษณาบนแอพและเว็บไซต์ภายนอกบริษัทต่างๆ ของ Facebook” เพื่อป้องกันไม่ให้แอปและเว็บไซต์อื่นๆ ใช้ข้อมูลจากเฟสบุ๊คมากำหนดโฆษณาตามความสนใจของเรา

 

 

แล้วถ้าเราอยากรู้ว่าเฟสบุ๊คกำหนดความสนใจของเราอย่างไร ลองเลือกที่ “ความสนใจของคุณ” ที่อยู่ในหน้า “การกำหนดลักษณะโฆษณาของคุณ” จากนั้นระบบจะแสดงเว็บและกิจกรรมที่เฟสบุ๊คคิดว่าเราสนใจ ซึ่งเราสามารถ “ลบ” ความสนใจที่เราคิดว่าไม่ใช่ตัวเราออกไปได้

 

 

Google กับความเป็นส่วนตัว

เราอาจคุ้นเคยกับกูเกิลในฐานะเครื่องมือค้นหาหรือเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แต่ที่จริงแล้วกูเกิลยังเป็นเจ้าของบริการออนไลน์สำคัญหลายอย่างที่เราคุ้นเคย เช่น จีเมล, ยูทูบ, โครม, กูเกิลแมปส์, กูเกิลเพลย์ และบริการอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่ากูเกิลเก็บข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของเราและใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหารายได้จากโฆษณา แต่เราสามารถเข้าไปดูได้ว่ากูเกิลรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรา รวมถึงควบคุมการใช้ข้อมูลของเราได้ ดังนี้11

 

  • การลบประวัติข้อมูลและหยุดการติดตาม

แม้กูเกิลจะบันทึกการค้นหาของเราไว้ทั้งหมด แต่เราสามารถลบประวัติการใช้งานของเราได้ เช่น ถ้าเราไปค้นอะไรที่ดูตลกหรือน่าอับอายแล้วไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บไว้ ให้เข้าไปที่หน้าบัญชีกูเกิลของคุณ (https://myaccount.google.com) จากนั้นให้เลือกที่ “ไปยังกิจกรรมของฉัน” 

 

 

ในหน้านี้เราจะเห็นว่ากูเกิลเก็บข้อมูลกิจกรรมออนไลน์อะไรไว้บ้าง เช่น เราเข้าดูวิดีโออะไรบ้าง เราใช้คำค้นว่าอะไร ให้เราเลือก “ลบกิจกรรมโดย” (Delete activity by) ซึ่งจะเลือกลบเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการหรือลบทั้งหมดเลยก็ได้ รวมทั้งสามารถเลือกเฉพาะบริการที่ต้องการลบข้อมูล เช่น บริการเสียง บริการ Chrome หรือลบในทุกบริการก็ได้ 

 

 

นอกจากบริการคำค้นที่ถูกบันทึกเอาไว้ ยังมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ข้อมูลคำค้นด้วยเสียง (มีการบันทึกเสียงเอาไว้) หรือข้อมูลการเดินทางของเราผ่านบริการกูเกิลแมปส์ โดยเราสามารถลบบันทึกข้อมูลเหล่านี้ได้เช่นเดียวกับบันทึกคำค้นข้างต้น 

นอกจากนั้น หากคุณต้องการให้กูเกิลหยุดติดตามข้อมูลการค้นหา ให้เข้าไปที่ “ควบคุมกิจกรรม” (activity controls) และเลือกปิดบริการและกิจกรรมที่คุณไม่ต้องการให้เก็บข้อมูล อาทิ กิจกรรมบนเว็บและแอป ประวัติตำแหน่ง ข้อมูลอุปกรณ์ กิจกรรมเสียงพูดและเสียง ประวัติการค้นหาบนยูทูบ และประวัติการดูยูทูบ 

 

 

  • การควบคุมข้อมูลโฆษณา

กูเกิลสร้างรายได้จากโฆษณา ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราสามารถใช้บริการทั้งหลายในเครือกูเกิลได้ฟรี ดังนั้นเมื่อเราใช้เสิร์ชเอ็นจิ้น เราจะเห็นโฆษณาที่คล้ายคำค้นหา หรือเมื่อเราท่องเว็บ อ่านอีเมล ดูยูทูบ เราจะเห็นโฆษณาที่กูเกิลคาดว่าตรงกับความสนใจของเรา

ข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเราจะถูกเก็บรวบรวมและสร้างเป็นฐานข้อมูล “หัวข้อที่คุณชอบ” เพื่อใช้ในการเลือกโฆษณาตามความสนใจของเรา โฆษณาดังกล่าวไม่ได้ปรากฏบนบริการของกูเกิลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเว็บไซต์และแอปอีกนับล้านรายการที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกูเกิลด้วย 

แม้กูเกิลจะมีนโยบายไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราให้กับผู้เผยแพร่โฆษณา แต่บางครั้งเราก็อาจไม่ต้องการเห็นโฆษณาบางอย่างแม้จะตรงกับความสนใจของเราก็ตาม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นมะเร็งแล้วใช้คำค้นหาข้อมูล ก็คงไม่อยากเห็นโฆษณาที่คอยย้ำเตือนว่าเราเป็นโรคร้ายตลอดเวลา หรือถ้าคุณไปค้นคำเกี่ยวกับเพศเพื่อหาข้อมูลทำการบ้านวิชาสุขศึกษา คุณก็คงไม่อยากเห็นโฆษณายาคุมกำเนิดหรือไวอากร้าแน่ๆ

เราสามารถเข้าไปดูได้ว่ากูเกิลคิดว่าเราสนใจเรื่องอะไรได้ที่หน้าบัญชีหลักของกูเกิล โดยเลือกหัวข้อ “การตั้งค่าโฆษณา” จากนั้นเลือก “จัดการเครื่องมือตั้งค่าโฆษณา” 

 

เมื่อเข้ามาในหน้าการจัดการเครื่องมือตั้งค่าโฆษณา ให้คลิกตรง “หัวข้อที่คุณชอบ” เพื่อดูว่ากูเกิลคิดว่าเราสนใจเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถนำหัวข้อเหล่านั้นออกหรือใส่หัวข้อที่เราชอบอันอื่นเข้าไปแทน

 

 

นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกปิด “การปรับเปลี่ยนโฆษณาในแบบของคุณ” ได้ เท่านี้เราก็ไม่ต้องเห็นโฆษณาบางหัวข้อที่กูเกิลเลือกจากพฤติกรรมออนไลน์ของเรา (แต่เราจะยังเห็นโฆษณาในจำนวนเท่าเดิมอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่โฆษณาที่ปรับตามความสนใจของเรา)

 

 

การจัดการชื่อเสียงออนไลน์

อินเทอร์เน็ตทำให้ประเด็นความเป็นส่วนตัวซับซ้อนมากขึ้น ในโลกที่วัฒนธรรมการแชร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราต้องตระหนักว่าทุกครั้งที่แชร์ข้อมูล แสดงความเห็น โพสต์วิดีโอ หรือส่งรูปภาพตัวเองให้เพื่อนหรือคนรู้จัก เรากำลังเปิดเผยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้โลกได้รับรู้ และสิ่งเหล่านี้จะกระทบกับชื่อเสียงของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เราต้องถามตัวเองว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้บ้าง และเรา (รวมถึงคนที่เราแชร์ข้อมูลของเขา) รู้สึกอย่างไรที่คนเหล่านั้นจะเห็นข้อมูล ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นข้อมูลธรรมดาที่เราอาจคิดไม่ถึงว่าจะส่งผลร้ายกับตนเองหรือคนรอบตัวในอนาคต ตัวอย่างเช่น การแชร์ที่อยู่ในโซเชียลมีเดียอาจทำให้คนแปลกหน้ารู้จักบ้านของเรา หรือเราอาจเขียนบางข้อความด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่กระทบกับชื่อเสียงในภายภาคหน้า เช่น ผู้ที่คัดเลือกคนเข้าเรียนต่อหรือทำงานอาจใช้ร่องรอยดิจิทัลในโลกออนไลน์ในอดีตมาตัดสินคุณโดยไม่เข้าใจบริบท ดังนั้นเราจึงควรถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่โพสต์จะมีผลกับเราใน 1 เดือนข้างหน้า 1 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้าหรือไม่

สุดท้าย การจัดการชื่อเสียงออนไลน์ยังต้องคำนึงถึงชื่อเสียงของผู้อื่นด้วย การที่เพื่อนของเราแชร์ข้อมูลให้เรารู้ ไม่ได้แปลว่าเขาอยากให้เราแชร์ข้อมูลของเขาออกไปในวงกว้าง

 

 

บทสรุป

 

โลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างจากโลกจริงที่มีความเสี่ยง เราจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยี เช่น มัลแวร์ การรังแกออนไลน์ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้โดยไม่ไปลดโอกาสมากมายที่อินเทอร์เน็ตหยิบยื่นให้เรา 

ในบทถัดไปเราจะมารู้จักกับสิทธิและความรับผิดชอบในยุคดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงสำคัญต่อการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในสังคม แต่ยังช่วยสร้างจิตสำนึกและจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันในโลกยุคใหม่อีกด้วย


อ้างอิง

1 อ้างอิงจากหลักสูตรพลเมืองยุคดิจิทัลและความปลอดภัยของกูเกิล เข้าถึงได้ ที่นี่

2 อ้างอิงจากหลักสูตรพลเมืองยุคดิจิทัลและความปลอดภัยของกูเกิล 

3 จากเว็บไซต์ Scamwatch.

4 เรียบเรียงจาก TotalBank (totalbank.com) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (etda.or.th).

5 อ้างอิงจากเว็บไซต์ Common Sense

6 Modality Partnership, “NHS Choices – Coping with cyberbullying,” n.d.

7 อ้างใน Polly Sprenger, “Sun on Privacy: ‘Get Over It,’” Wired, January 26, 1999.

8 Per Christensson, “Digital Footprint Definition,TechTerms, May 26, 2014.

9 ปรับจาก วสันต์ ลิ่วลมไพศาล และ สฤณี อาชวานันทกุล, คู่มือพลเมืองเน็ตรุ่น 2 (กรุงเทพฯ: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, 2556).

10 Brian Barrett, “How to Lock Down Your Facebook Privacy Settings,” Wired, November 14, 2017.

11 K. G. Orphanides, “Google’s New ‘About me’ Privacy Settings Explained,” Wired, November 11, 2015.

12 Career Builder, “Number of Employers Using Social Media to Screen Candidates Has Increased 500 Percent over the Last Decade,” n.d.,.resume writeressay writing service