เอไอก้าวล้ำไปอีกขั้น รู้จักทำงานเลียนแบบเซลล์สมองมนุษย์ได้เอง

โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ใหม่ล่าสุดของบริษัทดีปมายด์ (Deepmind) ซึ่งอยู่ในเครือกิจการเดียวกับกูเกิล เรียนรู้ทักษะการนำทางและบอกพิกัดตำแหน่ง จนสามารถเอาชนะมนุษย์ในเกมเสมือนจริงที่แข่งกันค้นหาสิ่งของและหาทางออกจากเขาวงกตได้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาเอไอที่มีความสามารถเหนือมนุษย์

มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานดังกล่าวในวารสาร Nature โดยผู้พัฒนาโปรแกรมระบุว่า โครงข่ายประสาทเทียมของเอไอนี้สามารถปรับตัวให้มีพฤติกรรมการทำงานเหมือนกับ “เซลล์ตารางพิกัด” (Grid cells) ซึ่งมีอยู่ในสมองส่วนที่ช่วยนำทางของมนุษย์ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งที่ไม่เคยมีการสอนหรือป้อนข้อมูลเรื่องดังกล่าวให้กับเอไอมาก่อนแต่อย่างใด

นายดาร์ชาน กุมาราน นักวิจัยอาวุโสของดีปมายด์ เผยว่า ในขั้นแรกผู้สร้างเอไอโปรแกรมนี้ได้พัฒนาโครงข่ายประสาทเทียมที่มีความซับซ้อนหลายชั้นขึ้น เพื่อให้เอไอมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้ง จากนั้นได้สอนทักษะพื้นฐานในการนำทางให้กับเอไอ โดยป้อนข้อมูลที่เป็นรหัสสัญญาณบ่งบอกความเร็วและทิศทางซึ่งมีอยู่ในสมองของหนูที่กำลังออกหาอาหารให้

หลังจากนั้นผู้สร้างโปรแกรมพบว่า เอไอพัฒนาทักษะการนำทางและค้นหาพิกัดตำแหน่งได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังฝึกฝนเล่นเกมค้นหาทางออกจากเขาวงกตเสมือนจริงหลาย ๆ ครั้ง แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือโครงข่ายประสาทเทียมของเอไอเริ่มส่งสัญญาณสื่อสารระหว่างกันในรูปแบบที่คล้ายกับการทำงานของ “เซลล์ตารางพิกัด”ที่มีในสมองของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเซลล์นี้จะช่วยให้รับรู้ตำแหน่งและทิศทางของสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมได้ เสมือนมีตารางพิกัดอ้างอิงที่แต่ละช่องเป็นรูปหกเหลี่ยมอยู่เหนือสถานที่นั้น

“เอไอเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้กลยุทธ์เดียวกันกับมนุษย์ได้โดยไม่ต้องสอน สามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางลัดตัดตรงที่สุดเพื่อไปถึงเป้าหมายได้ก่อนคู่แข่ง ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลันอีกด้วย ขณะนี้ทักษะนำทางของเอไอเหนือกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ไปแล้ว” นายกุมารานกล่าว

นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยายังมองว่า พฤติกรรมของเอไอที่ปรับตัวทำงานเหมือนเซลล์สมองของมนุษย์ได้เองนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกการทำงานของสมองส่วนที่ยังเป็นปริศนาอยู่ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย โดยอาจใช้แบบแผนการทำงานของเอไอเพื่อเป็นแนวทางศึกษากระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองของสิ่งมีชีวิตต่อไป


ที่มา: เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีไทย ในชื่อ ‘เอไอก้าวล้ำไปอีกขั้น รู้จักทำงานเลียนแบบเซลล์สมองมนุษย์ได้เอง‘ วันที่ 11 พฤษภาคม 2561